กสม.แถลงชี้นโยบาย สตช.เสนอเก็บดีเอ็นเอผู้พ้นโทษขัดหลักกฎหมาย ป.วิอาญา เสนอยกเลิกด่วน เผยผลประชุม GANHRI 2023 ชูข้อท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 12/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ นโยบาย สตช. ให้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอผู้พ้นโทษเพื่อป้องปรามอาชญากรรม ขัดหลัก ป.วิ.อาญา และเป็นการเลือกปฏิบัติ เสนอให้ยกเลิกด่วน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 จากผู้ร้องสองรายซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 4 นาย ได้เดินทางไปยังบ้านของผู้ร้องรายหนึ่งเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ)
โดยให้เหตุผลว่าเพราะผู้ร้องเคยต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอมให้ตรวจเก็บ ทั้งนี้ ผู้ร้องอีกรายระบุว่ามีผู้เพิ่งพ้นโทษซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านใกล้เคียงกันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่มีวัตถุประสงค์ใด เป็นไปตามกฎหมายใด และเห็นว่าการขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเออาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ ผู้ถูกร้อง ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากผู้ร้องที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้
การกระทำที่เป็นการกระทบหรือละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และมาตรา 131/1 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้สรุปว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ
จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ ในกรณีดังกล่าวได้มีการแจ้งเหตุผลความจำเป็นในการขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอให้ผู้ร้องทราบ และมีเอกสารการยินยอมให้ตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อผู้ร้องแสดงเจตนาไม่ยินยอมให้ดำเนินการ เจ้าหน้าที่จึงลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานในเอกสารและไม่ได้ข่มขู่หรือบังคับให้ผู้ร้องยินยอมให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ จึงเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ฯ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง
ประเด็นที่สอง พิจารณาว่า นโยบาย คำสั่ง หรือข้อสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่อง การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของบุคคลพ้นโทษ เป็นนโยบาย คำสั่ง หรือข้อสั่งการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หรือไม่ เห็นว่า บุคคลแม้จะพ้นโทษจากการถูกควบคุมตัวในเรือนจำหรือทัณฑสถานมาแล้ว ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไปตามที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญและหนังสือสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
ประกอบกับประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่บัญญัติให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลได้ แต่ต้องเป็นการดำเนินการในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการใช้พิสูจน์ความผิดของบุคคลซึ่งเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า สตช. ได้กำหนดนโยบายหรือข้อสั่งการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำของบุคคลพ้นโทษ โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ
โดยกล่าวอ้างว่า เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 แต่ กสม. เห็นว่า นโยบายของ สตช. ที่ให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลที่พ้นโทษไม่ใช่การดำเนินการเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1
อีกทั้งนโยบายหรือข้อสั่งการนี้เป็นการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมบุคคลพ้นโทษทุกประเภทความผิดโดยมิได้จำแนกประเภทความผิด หรือแสดงให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นของบุคคลที่จะถูกตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอว่ามีอัตราการกระทำผิดซ้ำ หรือมีแนวโน้มจะก่อความเสียหายหรือเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
“เมื่อพิจารณาประกอบหลักความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายแล้ว
จึงเห็นว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลที่พ้นโทษ แม้จะอ้างเหตุผลเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะประกอบกับอาศัยความยินยอมของผู้ที่จะถูกตรวจเก็บแล้ว แต่นโยบายหรือข้อสั่งการดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุด้วย
เมื่อ สตช. มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำของบุคคลพ้นโทษ โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่กรณี
ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสถานะที่เคยเป็นบุคคลต้องโทษ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายวสันต์กล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่20 มีนาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยกเลิกนโยบายหรือข้อสั่งการเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) บุคคลพ้นโทษ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลเฉพาะกรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
2. กสม. ประชุม GANHRI 2023 ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ชูข้อท้าทายการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในวงกว้างที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยตน และนางสาวหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการ กสม. เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) หรือ การประชุม GANHRI 2023
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและพิจารณาแผนงานของ GANHRI สำหรับปี ค.ศ. 2023 รวมทั้งเพื่อให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกันในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ในการประชุมเวทีระหว่างประเทศครั้งนี้ กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติของประเทศไทยได้แสดงบทบาทหน้าที่และสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่าง ๆ รวมถึงได้พบหารือกับผู้แทนองค์การระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม ดังนี้
คณะผู้แทน กสม. ได้ประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบัน
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) โดยได้รับทราบผลการดำเนินงานของ APF ในการสนับสนุนสมาชิกให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส (Paris Principles) และได้ร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ GANHRI (GANHRI General Assembly)
โดยได้ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ของ GANHRI ปี ค.ศ. 2023 – 2027 ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของสมาชิกในระดับประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกมีบทบาทในเวทีสิทธิมนุษยชน
ในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศโดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขบทบัญญัติของธรรมนูญ GANHRI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการประเมินสถานะ
อันเป็นกลไกการกลั่นกรองมาตรฐานระหว่างประเทศของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยช่วงท้ายของการประชุม ประธาน กสม. ได้เข้ารับประกาศนียบัตรในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านกระบวนการประเมินสถานะ และได้รับสถานะ A ในปี ค.ศ. 2021 – 2022 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการได้รับความเชื่อถือในระดับสากลว่ามีการดำเนินงานเป็นอิสระด้วยความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง และมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่หลากหลาย รวมทั้งได้รับการไว้วางใจจากภาครัฐและภาคประชาสังคมอีกด้วย
จากนั้น คณะผู้แทน กสม. ได้ร่วมการประชุมประจำปีของ GANHRI (GANHRI Annual Conference) ในหัวข้อ “เฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และครบรอบ 30 ปี ของหลักการปารีส: สะท้อนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและแนวทางสำหรับอนาคต” ในการนี้ ประธาน กสม. ได้เป็นวิทยากรร่วมกับผู้แทนสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากภูมิภาคต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อ “สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับหลักการปารีสในบริบทสังคมปัจจุบัน”
โดยได้เน้นย้ำบทบาทของ กสม. ในการทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยยึดหลักความเป็นอิสระตามหลักการปารีส ซึ่งมีข้อท้าทายสำคัญคือการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อันจะเป็นการช่วยป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ต้นเหตุและเป็นการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในเชิงระบบ
ในช่วงท้ายของการประชุมประจำปีของ GANHRI ประเทศสมาชิกได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ผ่านมามีความก้าวหน้า โดยมีการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ยังมีความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเด็น
ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และครบรอบ 30 ปีของหลักการปารีส สมาชิก GANHRI จึงแสดงความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลประชาชนในสถานการณ์เปราะบาง เพื่อให้มั่นใจว่าคนทุกกลุ่มจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน GANHRI ได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การโยกย้ายถิ่นฐาน และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นแกนกลางเพื่อสนับสนุนสมาชิกในการทำหน้าที่ตามหลักการปารีสเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการเดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม GANHRI 2023 ดังกล่าว คณะผู้แทน กสม. ได้พบและหารือกับ Ms. Nada Youssef A. Al Nashif รองข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับบทบาทของ กสม. ในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สำคัญและความท้าทายต่าง ๆ เช่น การติดตามการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน การใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก การดำเนินงานของ กสม. ใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
(1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม (3) การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล (4) การขจัดการเลือกปฏิบัติ และ (5) การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์ของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ท้าทายมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย
นอกจากนั้น คณะผู้แทน กสม. ยังได้พบหารือกับผู้แทนสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Forum for Human Rights and Development-Forum-Asia) หรือ FORUM-ASIA ซึ่งได้แสดงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเทศนั้น รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
ทั้งนี้ คณะผู้แทน กสม. ยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะมนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: HRC) สมัยที่ 52 เพื่อรับฟังการนำเสนอรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special rapporteur on human rights defenders) และการอภิปรายของผู้เข้าร่วมประชุมด้วย