ซีเซียม-137 ใช้เวลา 30 ปี สลายครึ่งเดียว! สธ.เฝ้าระวัง 3 กลุ่มอาการ หวั่นตกค้างร่างกาย-สิ่งแวดล้อม กรมวิทย์ฯเผยหากฝุ่นในโรงหลอม โมเลกุลเล็ก จะกระทบสุขภาพน้อย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และพบว่ามีการหลอมไปแล้วที่โรงหลอมเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ว่า ขณะนี้สำนังานปรมาณูเพื่อสันติ และจ.ปราจีนบุรี กำลังสอบสวนอย่างใกล้ชิด สธ.ก็มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปราจีนบุรี ซึ่งเปิดหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน (อีโอซี) ส่วนหน้าที่จังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน ผู้สัมผัส และผู้มีโอกาสสัมผัส รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสีมองไม่เห็น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่ตรวจจับได้ด้วยเครื่องมือว่า แผ่รังสีหรือไม่ การเกิดพิษขึ้นกับสารแต่ละชนิดที่มีอันตรายแตกต่างกัน ความเข้มข้นสาร ระยะเวลาสัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส ก็จะมีความรุนแรงแตกต่างออกไป
นพ.โอภาส กล่าวว่า อาการมีทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น สัมผัสใกล้ชิด อยู่ในระยะที่ไม่ห่างนัก มีตั้งแต่อาการทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเซลล์ที่ไปสัมผัส ผิวหนังอาจมีตุ่มพอง ตุ่มน้ำใส เกิดการอักเสบ หรือเนื้อตายได้ถ้าสัมผัสนานๆ หรืออาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ท้องเสีย อุจจาระร่วง ส่วนผลระยะกลาง และระยะยาว ส่วนใหญ่สารกัมมันตรังสีจะไวต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม ก็จะมีการเฝ้าระวังเชิงรุกใน 3 กลุ่มนี้ คือ 1.กลุ่มมีอาการทางผิวหนังและเนื้อเยื่อ 2.กลุ่มอาการทั่วไป คลื่นไส้อาเจียน และ 3.อาการผิดปกติผิดสังเกต จะมีการลงรายละเอียด เช่น คนมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติจำนวนมาก ก็ให้ไปสอบสวนสาเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนขีดวงผู้เกี่ยวข้องนั้น คล้ายเวลาเกิดโรคติดต่อโรคระบาดต้องตีวงใครเสี่ยงสูงสุด ต่ำสุด ส่วนที่กังวลว่าจะกระจายออกไปไกลนอกจังหวัดนั้น ต้องประสานข้อมูลสำนักงานปรมาณูฯ ตรวจสอบ ว่าตัวสารพิษแหล่งก่อเกิดปัญหาขอบเขตอยู่แค่ไหน กระจายตรงไหนอย่างไร แต่อย่างน้อยโดยหลักๆ คือ
-
คนในโรงงานกับละแวกใกล้เคียง ใครสัมผัสกี่คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกายให้ครบถ้วนอย่างใกล้ชิด โดยมีการตรวจสุขภาพทั่วๆ ไป สารปนเปื้อนมีหรือไม่ เช่น ตรวจหาสารซีเซียมในปัสสาวะ เป็นต้น กำลังประสานใกล้ชิดกับสำนังกานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการในการตรวจ สธ.จะระดมผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ต่อไป
-
บริเวณอำเภอนั้นๆ ให้ดูอาการตนเองมีอาการเกี่ยวข้องไหม
-
ใน จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นหลังจัดระบบเฝ้าระวังยังไม่มีอาการผิดปกติใน 3 กลุ่ม แต่คงไปเจาะข้อมูลให้ละเอียดขึ้น
หลังจากวันนี้เหตุการณ์ชัดขึ้น ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นก็คงต้องทบทวนว่า ระบบเฝ้าระวังเรามีความไวเพียงพอหรือไม่ เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ต้องปูพรมลงไปตรวจสอบให้แน่ชัดโดยเฉพาะบริเวณละแวกใกล้เคียงโรงงาน ทั้งนี้ จะเฝ้าระวังจนกว่าเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ทราบได้ว่ากัมมันตรังสีหมดไปหรือยัง หรือถูกเก็บเรียบร้อยหรืออยู่ในระยะปลอดภัยหรือยัง เหมือน PM 2.5 ต้นเหตุคือแหล่งเกิดสารพิษ ก็ต้องมีการกำจัดหรือทำให้หมดสภาพจึงถือว่าปลอดภัย
"โรคนี้เกิดผลกระทบจากความเข้มข้นกัมมันตรังสี ระยะที่รับสาร ซึ่งคนหนุ่มสาวเกิดอาการได้หมด เราเฝ้าระวังทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้อง หรือคนมีโอกาสสัมผัส เด็ก ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง ร่างกายไม่ค่อยดี เวลารับสารต่างๆ อาจทำให้โรคเดิมกำเริบมากขึ้น แต่ย้ำว่าโรคนี้เป็นได้ทุกคน ไม่ได้แปลว่าแข็งแรงแล้วไม่เกิดโรค การเฝ้าระวังต้องอาศัยความเข้มข้น อย่าคิดว่าตัวเองแข็งแรงสัมผัสแล้วจะไม่เป็นอะไร แต่จับตาดูคนกลุ่มเสี่ยงเปราะบางเป็นพิเศษ ส่วนต้องอพยพออกหรือไม่ ให้เป็นการพิจารณาและแถลงจากทางปราจีนบุรีและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่ สธ.เตรียมทุกอย่างไว้พร้อม ส่วนการตรวจสอบเฝ้าระวังในสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ เป็นหน้าที่ จ.ปราจีนบุรี และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเฝ้าระวัง" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวถึงถามถึงระยะเวลาคงอยู่ของซีเซียม-137 ว่า ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30 ปี คือ กว่าจะสลายตัวเหลือครึ่งเดียวใช้เวลา 30 ปี ไม่ว่าจะปนเปื้อนอยู่ที่ไหนทั้งสิ่งแวดล้อมหรือร่างกาย ทั้งนี้ หากเทียบเคียงกับเหตุการณ์เมื่อหลายสิบปีก่อนที่สารโคบอลต์ 60 ที่ใช้รักษkคนไข้หลุดรอดหายไป มีคนไปเก็บมามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และประสบภัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งกรณีซีเซียม-137 ความเข้มข้นไม่เท่ากับโคบอลต์ 60
เมื่อถามถึงกรณีนักท่องเที่ยวยกเลิกการมาเที่ยวเพราะกังวล นพ.โอภาส กล่าวว่า ความชัดเจนอยู่ที่จังหวัด ไปสอบสวนโรคแล้ว สารกัมมันตรังสีอยู่ตรงไหนอย่างไร หลอมไปแล้วหรือยัง การตรวจจับกัมมันตรังสีที่มีการรั่วไหลหรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมีมากแค่ไหน หัวใจสำคัญ สธ.กำลังติดตามข้อมูลเรื่องนี้ คนอื่นไม่ต้องกังวลมากเกินไป ต้องติดตามข้อมูลว่าหากอาการผิดปกติ ย้ำว่าไม่แน่ใจไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ดูว่ามีความเชื่อมโยงหรือไม่
ทางด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีที่วัตถุบรรจุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ถูกพบในโรงหลอมเหล็กว่า การได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารซีเซียม-137 จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร ระยะเวลาที่สัมผัส และวิธีการสัมผัส
ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสี มีทั้งประโยชน์และความอันตราย ซึ่งทางการแพทย์ใช้เพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งบางชนิด แต่ด้วยค่าชีวิตยาวของสารซีเซียมยาวเกินไปและการกำจัดยาก จึงไปใช้สารโคบอลต์ ที่มีครึ่งชีวิต 5 ปี แต่หลัง ๆ เราเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนแล้ว ทำให้ทางการแพทย์ใช้สารกัมมันตรังสีน้อยลงมากและมีการกำจัดอย่างถูกต้อง แต่ครั้งนี้เป็นการที่ถูกขโมยไป
หากอยู่ในกระบอกบรรจุก็ไม่มีอันตราย แต่หากถูกหลอมแล้ว จะขึ้นอยู่กับวิธีการหลอม หากใช้ความร้อนสูงมากสารก็จะสลายไป แต่ที่น่ากังวลคือ เศษฝุ่นที่มีซีเซียมติดอยู่ก็อาจกระจายออกไป ซึ่งต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจวัดสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อม
“เนื่องจากสารซีเซียมไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่ารับสารเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่สังเกตได้จากอาการป่วยที่มีประวัติสัมผัสสารร่วมด้วย ก็ต้องพบแพทย์เพื่อสอบสวนโรค ส่วนเรื่องการรักษาขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ได้รับ ถ้ารับมามากและโดนอวัยวะสำคัญ ซึ่งก็อาจเสียชีวิตได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากไปกดไขกระดูกก็จะกระทบต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ก็จะเริ่มเกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย ถ้าถูกผิวหนังเซลล์ก็จะถูกทำร้าย หรืออาจไปกระตุ้นเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไปจนถึงการเกิดมะเร็งได้ แต่ทั้งนี้เราต้องติดตามว่าซีเซียม-137 นี้ฟุ้งกระจายไปไกลแค่ไหน” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับความกังวลถึงการแถลงข่าว ที่ จ.ปราจีนบุรี พบฝุ่นในโรงงานหลอมเหล็กที่มีซีเซียมปนเปื้อนนั้น หากมีปริมาณโมเลกุลที่เล็กมากก็จะมีผลต่อร่างกายน้อยลง ซึ่งมีคนนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิล กรณีนี้ยังต่างกันเยอะ
อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามอาการป่วยของผู้สัมผัสในโรงงานหลอมต่อไป ขณะที่คนภายนอกก็ต้องเฝ้าระวังอาการป่วยต่างๆ ส่วนจะติดตามนานแค่ไหนยังไม่สามารถบอกได้ชัด แต่อย่าวิตกกังวลมากเกินไปนัก เนื่องจากไทยได้ร่วมกับประชาคมโลกในการออกพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ดังนั้น จะมีวิธีการปฏิบัติเขียนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการแพทย์เราก็เฝ้าระวังด้านสุขภาพ