ครม.เห็นชอบขั้นตอนยุติการดำเนินการ ‘กองทุน BSF’ ให้ชำระบัญชีให้เสร็จภายใน 90 วัน พร้อมอนุมัติร่างกฎหมาย 4 ฉบับ กำกับดูแลธุรกรรมในตลาดทุน เพิ่มอำนาจ 'เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.' เป็น 'พนักงานสอบสวน' ในความผิดบางประเภท
..................................
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบวิธีและขั้นตอนยุติการดำเนินการของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้(Corporate Bond Stabilization Fund) (กองทุน BSF) และให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับขั้นตอนและวิธียุติการดำเนินการของกองทุน BSF ประกอบด้วย 1.ให้ ธปท. ขายคืนหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ทั้งหมด ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค.2565 BSF มีสินทรัพย์สุทธิ 1,002.63 ล้านบาท 2. ให้ยุติการดำเนินการของกองทุน BSF ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ครม. เห็นชอบ
3.ให้มีการวินิจฉัยผลกำไรหรือความเสียหายของกองทุน BSF ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่คณะกรรรมการพิจารณาผลการกำหนดและให้รายงานต่อ ธปท.และกระทรวงการคลัง โดยหากมีกำไรเกิดขึ้นให้ ธปท. นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากเกิดความเสียหายให้กระทรวงการคลังชดเชยแก่ ธปท. ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท (เป็นไปตามมาตรา 20 และ 21 พ.ร.ก.กำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563)
และ 4.ให้กองทุน BSF ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันยุติการดำเนินการของกองทุน หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาชำระบัญชีเกินกว่า 90 วัน ให้ขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กองทุน BSF จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่มีพื้นฐานดีแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวอันเนื่องมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้เอกชนในช่วงมีการแพร่ระบาด ทำให้ตลาดกลับมาทำงานปกติได้ในระยะอันสั้น
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินการที่ผ่านมา BSF ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้รายใด เนื่องจากไม่มีบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ขอความช่วยหลือจากกองทุน ทำให้ต่อมาคณะกรรมการกองทุน BSF จึงเห็นชอบให้ยุติการเปิดรับขอความช่วยเหลือมายังกองทุน BSF หลังวันที่ 31 ธ.ค.2565 เป็นต้นไป และให้ยุติการดำเนินงานของกองทุน BSF โดยมีเหตุผลดังนี้
1.ภาวะตลาดตราสารหนี้เอกชนทำงานได้เป็นปกติแล้ว ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามจำนวนที่เสนอขาย มีหุ้นกู้ออกใหม่มากกว่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าโอกาสที่ตราสารหนี้เอกชนจะประสบปัญหาสภาพคล่องมีลดลง
2.คุณภาพหุ้นกู้ในตลาดปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 สะท้อนจากบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563-64 นอกจากนี้ ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งหุ้นกู้เสี่ยงที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF มีลดลงเหลือ 16,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีหุ้นกู้เสี่ยงในกลุ่ม BBB- ที่มีโอกาสขอรับความช่วยเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมในระยะต่อไป
โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้โดยหลักเป็นปัจจัยภายนอก เช่น การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งโดยรวมแล้วไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563
3.การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงต่อเนื่อง โดยภาครัฐได้ประกาศลดระดับความรุนแรงจากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 พร้อมกับผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึง การเสียชีวิตไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญและไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกิดความเสี่ยงเชิงระบบในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมาย 4 ฉบับ 1.ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่....) พ.ศ. .... 2.ร่าง พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่...) พ.ศ. .... 3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉบับที่....) พ.ศ. .... และ 4.ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆในตลาดทุน สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
พร้อมกันนั้น ครม.ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับดังกล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มและในรูปแบบของการเสวนา และผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยได้รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรากฎหมายดังกล่าวไปเปิดเผยต่อประชาชนด้วยแล้ว ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายนี้มี 6 ข้อ คือ
1.ส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัล โดยเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน การออกและส่งมอบหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการออกเสนอขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินการในภาคตลาดทุนสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบถ้วน ทั้งระบบ และมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม
2.เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่และการเปิดเผยงบการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การกำกับดูแลบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนในตลาดทุนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดต้นทุนหรือภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินควร
3.ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การจัดตั้ง ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ รวมถึงเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ฝากหลักทรัพย์ที่ฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และเพิ่มความยืดหยุ่น ในการกำกับดูแลสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์
4.เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการระดมทุน สำนักงานสอบบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพ ที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เช่น เพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม หุ้นกู้ การเข้าถือหลักทรัพย์ เพื่อครอบงำกิจการ การกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีกับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน การให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจดข้อจำกัดการโอนและกำหนดแนวทางการรายงานผลการเสนอขายหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น เพื่อลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือการกำกับดูแล ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน
5.เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิด บางประเภท การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวน และเพิ่มบทบัญญัติ ในเรื่องโทษปรับเป็นพินัยเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้บุคคลที่จะให้ข้อมูลเบาะแสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภท ได้รับความคุ้มครองในแนวทางเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการสนับสนุนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6.ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้สอดคล้องกัน รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเพื่อความชัดเจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยประกันสังคม
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 4 ฉบับดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุนและยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล 3.เพิ่มค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ การประกอบวิชาชีพ หรือการให้บริการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4.เพิ่มบทบัญญัติโทษปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดทางพินัย ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 5. เพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 6.เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท