คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมหารือกับกระทรวงยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังอดอาหารเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีเห็นต่าง เผยพร้อมปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราวและทบทวนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีแสดงออกทางการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม อาคารกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อหารือในประเด็นความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ต้องขัง กรณีนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)
ทั้งนี้ กสม. นำโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวสุภัทรา นาคะผิว พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
การหารือมีข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้น ดังนี้
1. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้การปฏิบัติในปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ 'ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้' และ 'การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้หลบหนี'
2. กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบันเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง ซึ่งไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี และยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดให้สามารถคุมขังในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำได้ ซึ่งรวมถึงการคุมขังที่บ้าน (House Arrest) เพื่อไม่เป็นการปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด
3. กระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผ่านกลไกของกองทุนยุติธรรม
4. กสม. จะให้การสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้รายละเอียดข้อเรียกร้องของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ผู้ต้องขังที่อดอาหาร มีดังนี้
1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
'สมศักดิ์' ถกตัวแทนภาคประชาชน ปมผู้ต้องขังอดอาหารในเรือนจำ ยันดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน