ครม.อนุมัติปรับปรุงโครงการฯ ใช้จ่ายจากเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เคาะหลักการร่างกฎกระทรวงปรับปรุงรายการ-อัตราค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตเกี่ยวกับยา ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (31 มกราคม 2566) อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (วงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
-
โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาดำเนินโครงการ ฯ ถึงธันวาคม 2565 กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ซึ่ง สธ. ได้ ดำเนินการซื้อยาภายใต้โครงการดังกล่าวครบถ้วนแล้วและยัง มีกรอบเงินกู้เหลือจ่ายประมาณ 766.79 ล้านบาท จึงให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาไวรัสเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เหลือจ่าย ได้แก่ ยา Favipiravir/Molnupiravir จำนวน 30 ล้านเม็ด ยา Remdesivir จำนวน 300,000 vial โดยมุ่งเน้นการซื้อยา Molnupiravir เป็นหลัก และให้ขยายระยะเวลาโครงการ เป็นสิ้นสุด มีนาคม 2566
-
โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) สำหรับบริการประชากรไทย จานวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี 2565 ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 18,639.11 ล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 และให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหา วัคซีนในส่วนที่เหลือ กรณีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลในการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้/ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
-
โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เพื่อขยายการรองรับ การดูแลผู้ป่วย COVID - 19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ ระยะเวลาดำเนินการถึงธันวาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาโครงการ ฯ เป็นสิ้นสุด มิถุนาย2566
-
โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 (ChulaCov19 mRNA) ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิต เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ของจุฬาลงกรณ์ อว. ให้ปรับแก้ไขชื่อโครงการเป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบ ทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
โดยในวันเดียวกันนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 31 ม.ค. 66 ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2537) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงรายการและอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 26 (พ.ศ.2537) ดังนี้
-
ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมรายการพิสูจน์หรือวิเคราะห์ยาตามตำรับยาที่ขอขึ้นทะเบียน
-
แก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต โดยเป็นการลดจากเดิมที่กำหนดให้จัดเก็บเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น เป็น จัดเก็บเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตประเภทนั้น
-
เพิ่มรายการค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยมีอัตราเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาประเภทนั้น เพื่อให้การกำหนดรายการเก็บค่าธรรมเนียมและอัตราค่าธรรมเนียมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุและการต่ออายุของใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา
-
แก้ไขรายการค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยาแผนโบราณให้หมายความถึงเฉพาะยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดกลไกการควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีผลบังคับเฉพาะกับยาแผนโบราณสำหรับสัตว์
อย่างไรก็ตาม ตามร่างกฎกระทรวงฯ ยังคงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับยาแผนปัจจุบัน ประกอบด้วย ใบอนุญาตผลิตยา ใบอนุญาตขายยา ใบอนุญาตส่งยา ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาควบคุมอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ และใบอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักร
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินผลจากการออกกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้ซึ่งได้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตลงกึ่งหนึ่งนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 21.51 ล้านบาทต่อปี แต่การได้กำหนดเพิ่มค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งจะจัดเก็บได้จากการต่ออายุใบสำคัญทุก7 ปี จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ประมาณ 16.61 ล้านบาทต่อปี