‘กรมทางหลวง’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็นเอกชน โครงการพัฒนาที่พักริมมอเตอร์เวย์สาย 7 ‘กทม.-บ้างฉาง’ 2 แห่ง ‘ศรีราชา / บางละมุง’ วงเงิน 4.2 พันล้านบาท วันที่ 6 ก.พ.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 มกราคม 2566 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมมีแผนงานที่จะพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ - บ้านฉาง เพื่อเป็นจุดแวะพักสำหรับผู้ใช้เส้นทาง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน เช่น ห้องน้ำ ที่จอดรถ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ
โดยจะเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการฯ เพื่อพัฒนาและการดูแลบริหารจัดการที่พักริมทางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
โดยปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal : RFP) สำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา มูลค่า 2,929 ล้านบาท บริเวณ กม. 93+750 และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มูลค่า 1,317 ล้านบาท บริเวณ กม.137+800 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – บ้านฉาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 62)
กรมทางหลวงจึงเตรียมจัดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ นำเสนอสาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อภาคเอกชน และรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมทางหลวงจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1. ผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง www.doh.go.th และ www.doh-motorway.com ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 และเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่าน Website ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 6 - 12 กุมภาพันธ์ 2566
และ 2. ผ่านการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 - 14.30 น. ณ ห้อง Royal Maneeya โรงแรมเรเนสซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ เพื่อนำข้อมูลข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal : RFP) ในกระบวนการต่อไป
ตัวอย่างที่พักริมทางศรีราชา
ตัวอย่างที่พักริมทางศรีราชา
ตัวอย่างที่พักริมทางศรีราชา
ตัวอย่างที่พักริมทางศรีราชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตามแผนงานจะตั้งอยู่บริเวณ กม.93+750 ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ และทางแยกต่างระดับหนองขาม พื้นที่ ต.บางพระ และ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ฝั่งขาออกมุ่งหน้าพัทยา มีขนาดพื้นที่ประมาณ 60.1 ไร่/ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 56.8 ไร่ โดยภายในศูนย์บริการจะประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ที่จอดรถ ศาลาพักผ่อน ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านขายของ สถานีบริการน้ำมันหน่วยกู้ภัย ศูนย์บริการระบบผ่านทางอัตโนมัติ เป็นต้น
มูลค่าการลงทุนโครงการ แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 784.23 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 831.34 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับระดับพื้นที่ (แล้วเสร็จ) 65.70 ล้านบาท งานถนนภายในและลานจอด 133.72 ล้านบาท งานปรับภูมิทัศน์และพื้นที่โดยรอบ 106.39 ล้านบาท งานอาคาร 367.82 ล้านบาท งานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการประจุไฟฟ้า 89.53 ล้านบาท งานระบบและอุปกรณ์ปฏิบัติงาน 6.06 ล้านบาท งานขยายเขตไฟฟ้าและประปา 9.46 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 21.49 ล้านบาท วงเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 31.17 ล้านบาท
มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic IRR) 33.43% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Economic NPV) ที่อัตราคิดลด 12% ที่ 4,926.07ล้านบาท มูลค่ารวมของค่าตอบแทนภาครัฐตลอดอายุโครงการ 1,489.06 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนของเอกชน อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 10.38% ระยะเวลาคืนทุน 11.09 ปี อัตราผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) 12.00% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่อัตราคิดลด 7.26% ที่ 435.97ล้านบาท
ตัวอย่างที่พักริมทางบางละมุง
ตัวอย่างที่พักริมทางบางละมุง
ตัวอย่างที่พักริมทางบางละมุง
ตัวอย่างที่พักริมทางบางละมุง
ส่วนโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณกม.137+800 ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน พื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ฝั่งขาออก มุ่งหน้าอู่ตะเภา ขนาดพื้นที่ประมาณ 32.6 ไร่/ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 32.6 ไร่
มูลค่าการลงทุนโครงการ แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 132.29 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 634.16 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับระดับพื้นที่ (แล้วเสร็จ) 62.92 ล้านบาท งานถนนภายในและลานจอด 62.60 ล้านบาท งานปรับภูมิทัศน์และพื้นที่โดยรอบ 60.88 ล้านบาท งานอาคาร 319.52 ล้านบาท งานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการประจุไฟฟ้า 79.18 ล้านบาท งานระบบและอุปกรณ์ปฏิบัติงาน 4.12 ล้านบาท งานขยายเขตไฟฟ้าและประปา 6.39 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 15.87 ล้านบาท วงเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 22.68 ล้านบาท
มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic IRR) 17.44% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Economic NPV) ที่อัตราคิดลด 12% ที่ 466.41 ล้านบาท มูลค่ารวมของค่าตอบแทนภาครัฐตลอดอายุโครงการ 284.72 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 7.66% ระยะเวลาคืนทุน 14.09 ปี อัตราผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) 12.00% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่อัตราคิดลด 7.26% ที่ 29.08 ล้านบาท