‘ธปท.’ เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ออกใบอนุญาตจัดตั้ง ‘ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา’ 12 ม.ค.-12 ก.พ.นี้ ก่อนเปิดผู้สนใจสมัครเป็นผู้ให้บริการฯ ไตรมาส 2/66 คาดเปิดให้บริการจริงกลางปี 68
.......................................
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing : แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ขณะนี้ ธปท. ได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) เรื่อง การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดย ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรืออีเมล [email protected] ระหว่างวันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ.2565 ก่อนจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะฯไปประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตฯได้ภายในไตรมาส 1/2566 จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ต่อไป
"ธปท.จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาสมัครเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ในช่วงต้นไตรมาส 2/2566 โดยจะเปิดรับสมัครเป็นระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากมีรายละเอียดที่ผู้สมัครต้องเตรียมการค่อนข้างมาก และใช้เวลาในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นเวลา 9 เดือน ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกมีเวลาเตรียมความพร้อม 1 ปี และเปิดให้บริการจริงกลางปี 2568" นายธาริฑธิ์ กล่าว
นายธาริฑธิ์ ระบุว่า ในระยะแรก ธปท.จะให้ใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการ Virtual Bank จำนวน 3 ราย เพื่อไม่ให้มีการแข่งขันที่สูงจนเกินไป และจำนวน 3 ราย ก็ถือว่าพอดี อีกทั้งการที่มีแบงก์ใหม่ ทำให้ ธปท.ต้องเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด จึงต้องดูกำลังของ ธปท.ด้วยว่าจะดูแลได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการกำกับดูแล Virtual Bank ธปท.จะใช้กรอบการกำกับดูแลแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ล่าสุดมีผู้สนใจว่าจะสมัครเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ประมาณ 10 ราย
นายธาริฑธิ์ ระบุด้วยว่า สำหรับรูปแบบ Virtual Bank ในไทย จะประกอบด้วย 5 ลักษณะ ได้แก่ 1.เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย เพื่อให้ ธปท. กำกับดูแลได้ 2.ให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบ โดยเน้นรายย่อยและธุรกิจ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม 3.ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Platform) เป็นหลัก ไม่มีสาขาของตัวเอง และธปท.ไม่อนุญาตให้มีเครื่อง ATM และ CDM เป็นของตัวเอง แต่มีพันธมิตรได้
4.ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาและให้บริการทางการเงิน โดย ธปท.คาดหวังให้ Virtual Bank มีความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยี และการใช้ข้อมูล และ 5.มีธรรมาภิบาล สามารถบริหารความเสี่ยง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้
@คุณสมบัติยื่นสมัคร ‘Virtual Bank’ 7 ข้อ-ทุนจดทะเบียน 5 พันล้าน
ด้าน น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.คาดหวังว่า การเปิดให้มี Virtual Bank จะทำให้มีผู้บริการรายใหม่เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี ข้อมูล และดิจิทัล โดยมีบริการทางการเงินที่ครบวงจรและเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางเงินในระบบ ,การสร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีแก่ลูกค้า และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น คือ การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน เช่น การเร่งขยายหรือทำธุรกรรมเสี่ยงจนกระทบฐานะ ,การแข่งขันที่ไม่เหมาะสมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงมากๆเพื่อแย่งลูกค้า หรือแข่งปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว และการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง และการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม เช่น กำหนดเงื่อนไขผูกมัดคู่ค้าทางธุรกิจให้ใช้บริการเฉพาะกับ Virtual Bank ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้จัดตั้ง Virtual Bank ได้แก่ 1.มีโมเดลทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ Green Line ได้อย่างยั่งยืน คือ มีกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าที่เป็นไปได้ ไม่เร่งขยายจนกระทบต่อความมั่นคง นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้า รวมทั้งบริหารต้นทุนและรายได้เพื่อให้อยู่รอดได้ 2.บุคคลสำคัญที่จะมาก่อตั้ง Virtual Bank ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ และผู้บริการระดับสูง ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม มีธรรมาภิบาล และไม่มีประวัติที่เสื่อมเสีย
3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล 4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว 5.มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน 6.มีความสามารถในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่แพร่หลาย และ7.มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง
“ถ้าเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันแล้ว Virtual Bank เรียกได้ว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ชนิดหนึ่ง แต่มีรูปแบบการให้บริการที่ต่างออกไป คือ เน้นเทคโนโลยีและไม่มีสาขา ดังนั้น ความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในช่วงแรกที่เขาก่อร่างสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ ก็อาจยังไม่มีกำไร เพราะฉะนั้นทุนตั้งต้นต้องไม่ต่ำเกินไป เราเลยมองว่าอย่างน้อยต้องมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิด ซึ่งใกล้เคียงกับทุนจดทะเบียน Virtual Bank ที่ฮ่องกง เกาหลีใต้” น.ส.วิภาวิน ระบุ
น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ผู้สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) จะมาเดี่ยวหรือจับมือกันมา หากมีคุณสมบัติครบทั้ง 7 ข้อ ก็มายื่นใบสมัครได้ ส่วนต่างชาติก็มายื่นได้ แต่ต้องจับมือกับคนไทย เพราะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และเพื่อให้ได้ผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ Virtual Bank ในเบื้องต้น ธปท.จะพิจารณาให้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 รายก่อน และมีโอกาสเปิดเพิ่มอีกในอนาคต
“หลังจากเปิดรอบนี้แล้ว เราจะติดตามและประเมินผลว่า Virtual Bank ที่เราให้ใบอนุญาตไป ทำหน้าที่เป็นอย่างไร ตอบโจทย์เพียงพอแล้วหรือไม่ ถ้าเราเห็นว่ายังมีช่องว่างให้กับ Virtual Bank รายอื่นๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์เพิ่มได้ ธปท.และกระทรวงการคลัง จะพิจารณาเปิดรอบใหม่ได้” น.ส.วิภาวิน กล่าว
น.ส.วิภาวิน ระบุว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank ทั้ง 3 ราย จะมีเวลาเตรียมความพร้อม 1 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการจริง และหลังจากเปิดให้บริการแล้ว ธปท.จะเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วง 3-5 ปีแรก จากนั้นจะมีการประเมินว่า Virtual Bank มีความพร้อมจริงๆ และดำเนินธุรกิจได้ตามที่ ธปท.คาดหวังหรือไม่ หากมีความพร้อม ธปท. จะให้ Virtual Bank ออกไปเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
@‘ธปท.’ ย้ำ Virtual Bank ต้องไม่กระตุ้นการแข่งขันปล่อยสินเชื่อ
รายงานข่าวจาก ธปท. ระบุว่า การที่ ธปท.เปิดให้มีผู้ให้บริการใหม่ประเภท Virtual Bank ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ของ ธปท. ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อเดือน ก.พ.2565
โดยให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจ SME ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ Virtual Bank ที่จะเปิดให้บริการสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือใช้อำนาจตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง จนกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้บริโภคในวงกว้างนั้น ธปท. ได้กำหนดแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ดังนี้
1.ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้
2.ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม อาทิ มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย
3.ให้ Virtual Bank ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) รวมถึงความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก
4.ให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (phasing) เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน