สภาองค์กรผู้บริโภค จี้สำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงสิทธิทำฟัน-รักษาสุขภาพ เบิกจ่ายตามจริง ให้เท่าเทียมข้าราชการ-บัตรทอง ชี้การจำกัดสิทธิ ทำให้เข้าถึงการรักษาไม่เต็มที่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ส่งหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเรียกร้องให้ สปส. มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ด้านการรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม กรณีสิทธิรักษาสุขภาพในช่องปาก ให้เท่าเทียมกับระบบบัตรทองนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับหนังสือตอบกลับจาก สปส. ต่อกรณีดังกล่าวความว่า ข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้านการดูแลสุขภาพช่องปากและการรักษาโรคมะเร็งนั้น สำนักงานประกันสังคมมีคณะกรรมการการแพทย์และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและผลลัพธ์ของการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อนำมาพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องไม่ด้อยกว่ากองทุนสุขภาพอื่น
แต่ทว่าในความเป็นจริง ผู้ประกันตนยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาโรคมะเร็ง และด้านทันตกรรมน้อยกว่าสิทธิข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เนื่องจากทั้งสองสิทธิรักษาตามสภาวะโรคจริง ไม่จำกัดวงเงิน 900 บาท ต่อปี ดังเช่นสิทธิประกันสังคมแต่อย่างใด
“การจำกัดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายภายใต้วงเงิน 900 บาท ต่อปีนั้น ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและอาจทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลไม่เต็มที่ และจำเป็นต้องจ่ายสมทบเอง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่กล้าเข้าคลินิกเพราะคิดว่ามีราคาแพง ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกันตนบางรายเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในช่องปากด้วยเหตุที่ไม่กล้าเข้าไปรักษาเพราะปัจจัยด้านราคา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน” นายสมชาย ระบุ
นอกจากนี้ นายสมชาย ยังกล่าวทิ้งทายว่า ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้ทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ