กสม. ชี้กรณีกองบิน 56 จังหวัดสงขลา ลงโทษทหารที่มีอาการทางจิตเวช ข้อหาหนีราชการด้วยวิธีการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เป็นการละเมิดสิทธิฯ- แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เข้าถึงที่ทำกินและสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุก เหตุอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 45/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้กรณีกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 จังหวัดสงขลา ลงโทษทหารซึ่งป่วยทางจิตเวชข้อหาหนีราชการด้วยวิธีการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เป็นการละเมิดสิทธิฯ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เมื่อปี 2560 บุตรชายของผู้ร้องได้สมัครเป็นพลทหารกองประจำการ ประจำปี 2560 ผลัด 2 สังกัดกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 จังหวัดสงขลา (ผู้ถูกร้องที่ 2) ต่อมาได้หนีราชการไปจากต้นสังกัดตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2561 หลังกลับมารับราชการได้ถูกลงทัณฑ์จำขัง โดยในระหว่างนั้น ผู้ร้องอ้างว่าบุตรชายถูกเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 (ผู้ถูกร้องที่ 1) และนักโทษในเรือนจำทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บหลายแห่งเป็นเหตุให้กลายเป็นคนพิการและสติฟั่นเฟือน ภายหลังเกิดเหตุ กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 ไม่ได้เยียวยาหรือชดเชยความเสียหายให้กับผู้ร้องและบุตรชายซึ่งเป็นผู้เสียหาย
แต่อย่างใด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ซึ่งได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองไว้ว่า การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ อีกทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี กำหนดให้รัฐภาคีป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันมีลักษณะที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็นสองประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การจำขังผู้เสียหายไว้ที่เรือนจำทหารในข้อหาหนีราชการไปจากต้นสังกัดและการลงโทษผู้เสียหายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายถูกลงทัณฑ์จำขังโดยควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำทหาร กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 เป็นเวลา 72 วัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนที่เรือนจำกองบินจะนำตัวผู้เสียหายไปควบคุมนั้น ได้นำผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลกองบิน 56 และได้ทราบว่า ผู้เสียหายมีอาการทางจิตเวชก่อนจำขังแล้ว แต่ก็ยังคงลงโทษผู้เสียหายด้วยวิธีการคุมขังซึ่งเป็นวิธีการลงโทษแบบเดียวกับการลงโทษบุคคลทั่วไปที่กระทำผิดวินัยทหาร โดยไม่มีมาตรการรองรับสำหรับบุคคลผู้มีอาการทางจิตเวช ซึ่งในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายยังคงมีอาการทางจิตเวชรุนแรง ทั้งการหลบหนี การทำร้ายร่างกายตนเอง และกระทั่งนอนจมกองปัสสาวะหรืออุจจาระ แต่ยังคงถูกจำขังและเพิ่มบทลงโทษให้มีการจำขังเดี่ยวซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งไม่เหมาะสม แม้ว่าการดำเนินการจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้กับบุคลทั่วไป หากเป็นบุคคลที่มีอาการทางจิตจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำในลักษณะย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายซึ่งมีลักษณะเป็นการทรมาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง หน่วยงานต้นสังกัดและเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากประวัติการรักษาพยาบาลของผู้เสียหายจากโรงพยาบาลกองบิน 56 และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ประกอบกับข้อเท็จจริงของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 9 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ไม่ปรากฏรายงานการบันทึกของแพทย์หรือรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชี้ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจริง อีกทั้งจากการลงพื้นที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ที่ได้สอบข้อเท็จจริงจากแพทย์โรงพยาบาลตรัง ผู้ทำการรักษา พบว่า ร่องรอยบาดแผลของผู้เสียหายมีเพียงรอยแผลกดทับที่ก้นกบเท่านั้น ในชั้นนี้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่แสดงได้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานต้นสังกัดได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่กล่าวอ้าง
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้กองบิน 56 จังหวัดสงขลา เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย และครอบครัว และให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทัณฑ์ทหารในลักษณะที่เป็นการจำขังต่อทหารที่มีอาการทางจิตเวช เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ
2. กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เข้าถึงที่ทำกินและร่วมใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ เสนอพิจารณาสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยาน
นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นชอบให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอแนะกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งอาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายกรณี จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิและสถานะของบุคคล สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว และสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ โดยมีประเด็น
ที่ต้องพิจารณาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชน หรือไม่ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
1) สิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียงเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เคยตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐและมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นสิทธิของบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 และมาตรา 57 และเห็นว่า การดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งถือเป็นชุมชนดั้งเดิมได้เข้าถึงสิทธิชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างแท้จริง จึงเห็นว่า กรณีนี้มีการกระทำหรือละเลย
การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีการจับกุมและการดำเนินคดี
จากการตรวจสอบพบว่า ในเหตุการณ์จับกุมและดำเนินคดีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ในความผิดฐานบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การตรวจสอบสารพันธุกรรม การจัดล่ามแปล และการสอบสวน เจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นว่า กรณีนี้มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
3) สิทธิและสถานะของบุคคล กรณีการกำหนดสถานะบุคคลของกลุ่มกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
จากการตรวจสอบพบว่า จังหวัดเพชรบุรีได้แต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยมีคณะทำงานด้านสำมะโนประชากร และอำเภอแก่งกระจานได้ดำเนินการผ่านคณะทำงานด้านสำมะโนประชากร ภายใต้คำสั่งจังหวัดเพชรบุรี
มาอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงเห็นว่า กรณีตามคำร้องนี้ไม่พบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
4) สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว และสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ
จากการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการจัดสรรที่ดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่จากข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่า การจัดสรรที่ดินยังคงมีความไม่เหมาะสมและมาตรการให้ความช่วยเหลือรวมถึงการใช้มาตรการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขของรัฐอันเนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากโรงพยาบาล และปัญหาการสื่อสาร จึงเห็นว่า การดำเนินการของรัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้าน
บางกลอย
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรให้มีมาตรการและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการสำรวจการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เป็นปัจจุบัน โดยให้สำรวจความประสงค์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินโดยคำนึงถึง
การมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงของตนเองและชุมชนเป็นสำคัญ และเร่งพิจารณากฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และมาตรา 65 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยพิจารณาประกอบกรณีที่ กสม. ได้เคยให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ ให้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจับกุมและดำเนินคดี ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกหมายจับ การควบคุมตัว การแจ้งสิทธิ การติดต่อญาติหรือผู้เสียหายที่ไว้วางใจ รวมทั้งการจัดเตรียมทนายความ และล่ามแปลภาษาว่า มีการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่
2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ที่เสนอโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และควรพิจารณาจัดตั้งกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และควรอำนวยการให้เกิดการบูรณาการการแก้ไขปัญหาจาก
ผู้แทนที่รอบด้านทั้งภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ นักวิจัย/นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรท้องถิ่น
นอกจากนี้ ให้อัยการสูงสุดและอัยการจังหวัดเพชบุรี พิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญาที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์จับกุมและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
22 ธันวาคม 2565