ครม.เห็นชอบ ‘กฟผ.’ ยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘บ้านจันเดย์’ กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 3.5 พันล้าน หลังมีอุปสรรคจัดซื้อที่ดินไม่ได้-การลงทุนไม่คุ้มค่าแล้ว
.................................
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตก มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 3,542 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ กฟผ.ต้องเสนอยุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. มีอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินโครงการฯ ซึ่งตามแผนจะตั้งอยู่บนลำน้ำแควน้อย บริเวณตอนล่างของเขื่อนวชิราลงกรณ โดยอยู่ห่างจากท้ายเขื่อนวชิราลงกร เป็นระยะทางตามลำน้ำประมาณ 22.5 กิโลเมตร และอยู่เหนือบ้านจันเดย์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 180 ไร่ บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทั้งหมด
แต่ปรากฎว่า กฟผ. ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการตามรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการได้ เนื่องจากเจ้าของที่ดินมีความประสงค์ขายในราคาที่ต่อรองจนถึงที่สุด และสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการถึง 2 เท่า ประกอบกับ กฟผ. มีข้อจำกัดทางเทคนิคในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางวิศวกรรมสำหรับก่อสร้างเขื่อนสำหรับโครงการฯ ทำให้ไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้
นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการฯต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการและก่อสร้างประมาณ 5 ปี จึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันภายในปี 2566 ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดได้
อีกทั้งเมื่อพิจารณาประเด็นความคุ้มค่าของการลงทุน พบว่า แม้ว่าในช่วงเริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ในปี 2556 โครงการฯมีความคุ้มค่าอยู่ แต่เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆด้านพลังงานเปลี่ยนไป ทำให้ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟจากโครงการฯ มีราคาสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โครงการพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ เป็นต้น
“กฟผ. รายงานว่า เมื่อยกเลิกโครงการฯ แล้วไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เนื่องจากระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง และมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนอื่นๆอีก โดย กฟผ. ได้วางแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีเสถียรภาพและคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2559 อนุมัติโครงการการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจัน โดยโครงการดังกล่าวได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-79 (แผน PDP2015) มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และต่อมาได้รับการบรรจุในแผน PDP ปี 2561-80 หรือ แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2566