ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้ง ‘สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ’ ยกฐานะ ‘สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ’ เป็นองค์การมหาชน ขับเคลื่อนการใช้ ‘ข้อมูลขนาดใหญ่’ ของประเทศไทย
...................................
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นๆเกี่ยวกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นการยกฐานะสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ขึ้นเป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตภารกิจออกไปจากเดิม
สำหรับสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติฯ ที่จัดตั้งภายใต้ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว จะเป็นองค์การมหาชน ในกลุ่มที่ 2 บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ โดยตรงมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ด้าน คือ
1.จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 2.ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลที่บูรณาการข้อมูลรายสาขา สำหรับการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ เช่น การกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ การวางแผนธุรกิจ
3.ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน และ 4.ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ให้มาตรฐาน
“ข้อมูลที่สถาบันฯดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศ และการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ โดยในแผนงานระยะ 5 ปีแรก จะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว แรงงาน และยุติธรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ข้อมูลข้ามสาขา (Agenda-based) และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่เน้นสนับสนุนเชิงนโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ ด้านการแพทย์ การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐในการทำงานผ่านระบบดิจิทัล” น.ส.ทิพานัน ระบุ