1 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นวันเอดส์โลก ปีนี้ UNAIDS ชูประเด็นรณรงค์ ทำให้เท่าเทียม ไทยมุ่งยุติปัญหาโรคเอดส์ ภายในปี 2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็น 'วันเอดส์โลก' (World AIDS Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก โดยใช้โบว์แดงเป็นสัญลักษณ์สากล ที่แสดงถึงการตระหนักรู้ การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่า เอชไอวี/เอดส์ยังคงอยู่ และปี 2565 นี้ UNAIDS ชูประเด็นรณรงค์ คือ 'Equalize: ทำให้เท่าเทียม'
ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560 – 2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่ให้เกิน 1,000 คนต่อปี ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลง เหลือไม่เกินร้อยละ 10 จากการคาดประมาณสถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 6,500 คน/ปี (เฉลี่ย 18 คน/วัน) ผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 9,300 ราย/ปี (เฉลี่ย 26 ราย/วัน) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 520,000 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 97 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicator Cluster Survey: MICS) ในปี 2562 พบว่า คนไทยมีทัศนคติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 26.7 ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ทั้งด้านการป้องกันและการดูแลรักษา
ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อยุติปัญหาเอดส์ในระยะยาว 6 ยุทธศาสตร์
1.มุ่งเน้นและเร่งรัดจัดชุดบริการที่มีประสิทธิผลสูงให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง
2.ยกระดับคุณภาพและบูรณาการดำเนินงานป้องกันให้เข้มข้นและยั่งยืน
3.พัฒนาและเร่งรัดการรักษา ดูแลและช่วยเหลือทางสังคม ให้มีคุณภาพรอบด้าน
4.ปรับภาพลักษณ์ความเข้าใจทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ์เพื่อลดการรังเกียจ กีดกัน การเลือกปฏิบัติ
5.การลงทุนเพื่อประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคและทุกระดับ
6.ส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ปี 2565 ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS PCB ในโอกาสนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การปกป้องวัยรุ่นคนหนุ่มสาว ให้พ้นจากโรคเอดส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เป็นทั้งอนาคตของประเทศและของโลก, การเร่งให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมถึงบริการเอชไอวี/เอดส์ และ การส่งเสริมให้ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ทั้งในการให้บริการสุขภาพ สถานศึกษา ที่ทำงาน และชุมชน
โดยในช่วงกลางเดือน ธ.ค. นี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 ซึ่งจะมีประเทศสมาชิก 22 ประเทศ องค์กรไม่แสวงหากำไร(NGO) และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน (Co-Sponsor)เข้าร่วม และนายอนุทิน จะเป็นประธานการประชุม ซึ่งในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ไทยจะผลักดันให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของการยุติการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกและการดูแลให้เข้าถึงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และเน้นย้ำในประเด็นการไม่เลือกปฏิบัติและการลดการตีตรา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ลดปัญหาภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขโลกและการลดทอนศักยภาพของประเทศจากปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้เป็นโรคเอดส์ได้
อย่างไรก็ตาม การทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งผู้รับบริการ ผู้จัดบริการ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงความร่วมมือจากองค์กรทุกระดับ ชุมชน สังคม และนโยบายระดับประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับบริการที่ทั่วถึง เท่าเทียม ครอบคลุม และเหมาะสม นำไปสู่ความเท่าเทียมเพื่อมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ภายในปี 2573 ต่อไป
สำหรับประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดข้อมูลและสื่อต้นแบบได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค ddc.moph.go.th/das/ และขอเชิญร่วมกิจกรรมวันเอดส์โลกได้ทาง Facebook : Safe SEX Story เล่าเรื่องเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมบริการปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422