ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับ เน้นป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ-ความรุนแรงเพศ,กำหนดเวลากระบวนการยุติธรรม,กม.ป้องกันฟอกเงิน,กม.ว่าด้วยการปรับเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับมีรายละเอียดดังนี้
ฉบับที่ 1
พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อใช้เป็นบทบัญญัติในการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งการตรา พ.ร.บ. นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยให้ พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับเนื้อหาใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 3 ระบุ พ.ร.บ. นี้ให้ใช้บังคับแก่การกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 278, 279, 283 ทวิ, 284, 288, 289, 290, 297, 298, 313 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ขณะที่มาตรา 4 ระบุ พ.ร.บ.นี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตราหนึ่งมาตราใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
(ประกาศฉบับเต็ม: http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0006.PDF)
ฉบับที่ 2
พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 โดยให้ พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับเนื้อหาใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 4 ระบุ พ.ร.บ.นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าโดยผ่านช่องทางที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด
ขณะที่มาตรา 5 ระบุ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้มีหน้าที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้
(1) กระทรวงกลาโหม
(2) กระทรวงมหาดไทย
(3) กระทรวงยุติธรรม
(4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(5) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟ้องเงิน
(6) สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
(7) คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(8) คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(9) ศาล
(10) องค์กรอัยการ
(11) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ในท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังระบุหมายเหตุเกี่ยวกับ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ อันจะยังประโยชน์ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(ประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0001.PDF)
ฉบับที่ 3
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตรา พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยให้ พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับเนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาตรา 5 ระบุ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในกุศลสาธารณะ"
ขณะที่ มาตรา 8 ระบุ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้
"มาตรา 53 ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ากรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นหรือกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย หากไม่สามารถคืนทรัพย์สินหรือคุ้มครองสิทธิได้ ให้ใช้ราคาหรือค่าเสียหายแทน แล้วแต่กรณี"
ในท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังระบุหมายเหตุเกี่ยวกับ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน และบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งยังไม่มีบทบัญญัติที่ให้ดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(ประกาศฉบับเต็ม:http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0038.PDF)
ฉบับที่ 4
พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 โดยให้ พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 37 และมาตรา 38 วรรคหนึ่งให้มีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับเนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาตรา 3 ระบุ 'ปรับเป็นทางพินัย' หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินกฎหมายกำหนด
'ความผิดทางพินัย' หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย
'เจ้าหน้าที่รัฐ' หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน คณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา 14
ขณะที่มาตรา 5 ระบุ การปรับเป็นพินัยตามกฎหมายทั้งปวง ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้โดยไม่ให้ถือว่าเป็นการปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง
ส่วนกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัย
มาตรา 14 ระบุ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจะมีอำนาจปรับเป็นพินัยตามกฎหมายใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีกฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยมิได้บัญญัติไว้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นประกาศกำหนด
ขณะที่มาตรา 16 ระบุ การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญาให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ถ้าความผิดอาญานั้นไม่อาจเปรียบเทียบได้ ให้ระงับการดำเนินการปรับเป็นพินัยและแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
(2) ในกรณีตาม (1) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปรับเป็นพินัยไปก่อนแล้ว การปรับเป็นพินัย ดังกล่าวไม่เป็นการตัดอานาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการท่ีจะดำเนินคดีอาญา และ ในกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ให้ความผิดทางพินัย เป็นอันยุติและให้ศาลในคดีอาญาสั่งคืนค่าปรับเป็นพินัยที่ได้ชาระแล้วให้แก่ผู้กระทำความผิด ในกรณีที่ ศาลในคดีอาญาพิพากษาลงโทษปรับไม่ว่าจะลงโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้นำ ค่าปรับเป็นพินัยท่ีชำระแล้วมาหักกลบกับโทษปรับ หากยังมีจำนวนเงินค่าปรับเป็นพินัยที่ชำระแล้ว เหลืออยู่ ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้คืนเงินที่เหลือนั้นให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วย
(3) ถ้าความผิดอาญาน้ันเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับเป็นพินัย หรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยตามคำสั่งของศาลแล้ว ให้คดีอาญานั้นเป็นอันเลิกกัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของผู้กระทำ ความผิดนั้น
(4) ถ้าความผิดอาญาน้ันเปรียบเทียบได้ และได้มีการชาระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ความผิดทางพินัยนั้นเป็นอันยุติ
ในท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังระบุหมายเหตุเกี่ยวกับ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือ โดยที่มาตรา77ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับ แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับ สภาพความผิดหรือกำหนดมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด และฐานะของผู้กระทำความผิดเพื่อมิให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินสมควร หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกัน
(ประกาศฉบับเต็ม:http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0022.PDF)