‘ประวิตร’ เปิดนำร่อง 5G ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เสริม 3 อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ‘หุ่นยนต์-รถเข็นอัจฉริยะ-ระบบ AI คุมวงจรปิด’ ด้านรถไฟฟ้าสายสีแดงผู้โดยสารแตะ 3 แสน/เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 ตุลาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยด้านการส่งเสริมสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและได้ริเริ่มขึ้นนั้น มีความก้าวหน้าในการพัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้ โดยต้องขอขอบคุณคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นความสำคัญและได้อนุมัติงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินโครงการฯ นี้ รวมถึงพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็น 5G Smart Station ถือว่าเป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ครอบคลุมทุกบริการ "ระบบราง" เชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีความโดดเด่นด้านการออกแบบให้เป็นสถานี "อารยสถาปัตย์" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามหลัก Universal Design เน้นการให้บริการประชาชนในการเดินทางไปยังทุกจุดหมายด้วยความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 5G ได้อย่างเท่าเทียม และสามารถช่วยเหลือนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีระบบ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย รวมถึงโซลูชัน 5G ต่าง ๆ ที่พัฒนาร่วมกับ ทรู ซึ่งพร้อมให้บริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1.หุ่นยนต์ต้อนรับ ให้บริการช่วยเหลือผู้โดยสาร ทั้งบริการข้อมูลการเดินทาง นำทางในสถานี แนะนำและเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยภายในสถานี
2.รถเข็นอัจฉริยะ มีระบบ Automation ให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพ สามารถเคลื่อนที่ส่งไปยังพื้นที่เป้าหมายอัตโนมัติ ควบคุมง่ายด้วยระบบสัมผัสผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีความปลอดภัยด้วยระบบเซ็นเซอร์แจ้งเตือนเมื่อเข้าใกล้สิ่งของต่าง ๆ และหยุดเมื่อถึงระยะที่ใกล้เกินกำหนด พร้อมปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทันที
3.ระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดได้ทั่วทั้งสถานี และในอนาคตจะเชื่อมต่อ ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้ใช้บริการ
@สายสีแดงแตะ 331,958 คน/เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกันยายน 2565 พบว่ามีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 3,983,493 คน (เฉลี่ยประมาณเดือนละ 331,958 คน) แบ่งเป็นสายเหนือ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีรังสิต 3,705,961 คน (เฉลี่ยประมาณเดือนละ 308,830 คน) และสายตะวันตก ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีตลิ่งชัน 277,532 คน (เฉลี่ยประมาณเดือนละ 23,128 คน) โดยมีความตรงต่อเวลาและความน่าเชื่อถือในการให้บริการ ในสายเหนือและสายตะวันตกที่ร้อยละ 99.70 และ 99.90 ตามลำดับ และในทุกสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรถโดยสารประจำทางหมวด 1 หมวด 3 และหมวด 4 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และภาคเอกชนรวมทั้งหมด 77 เส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน
ในด้านการให้บริการบัตรโดยสาร ปัจจุบันบัตรโดยสาร EMV สามารถใช้กับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงได้แล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และ รฟท. ยังได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ของรถไฟฟ้าสายสีแดงและได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้สั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพระบบเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (Feeder) โดยให้เร่งดำเนินการรถเมล์ไฟฟ้า เข้ามาให้บริการเชื่อมต่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และนำระบบตั๋วแบบแพกเกจมาใช้ในการให้บริการ และให้ รฟท. ดำเนินการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินราชการในบริเวณสถานีอย่างเคร่งครัด และประชาสัมพันธ์การเปิดอุโมงค์เชื่อมเส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์กับถนนเทอดดำริให้ประชาชนรับทราบต่อไป รวมทั้งให้จัดทำแผนการดำเนินการปรับการเดินรถไฟทางไกลเข้ามาใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พิจารณาผลกระทบทั้งด้านมลพิษ เสียง และความร้อนที่เกิดขึ้นในสถานี และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย