กกต.แจงยิบ ปมกฎ 180 วัน ห้ามหาเสียง ชี้ กกต. ไม่ได้ทำกฎหมายดังกล่าว แนะนักการเมืองต้องแยก หน้าที่ กับ การหาเสียงเอาเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในสัมภาษณ์กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการหาเสียง หรือรอนสิทธิในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ว่า ความคิดเห็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อกฎหมายอยู่มาก การที่ กกต.ออกระเบียบนี้เพื่อความเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด
เพราะโทษตามกฎหมายกำหนด นอกจากกฎหมายเลือกตั้งที่มีโทษใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบส้ม หรือยุบพรรคการเมือง ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงที่ออกมาไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงการอธิบายกฎหมาย ว่าสิ่งใหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ตามกฎหมายที่กำหนด กกต.จะไปกำหนดความผิดหรือโทษเองไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาล และหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หรือการติดป้ายประกาศ หรือการหาเสียงทางอิเลคทรอนิคส์
“เรื่องเหล่านี้เป็นข้อห้ามอยู่ในกฎหมาย ซึ่ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง กกต.เป็นเพียงผู้นำนำมารวมและอธิบาย ใว้ในระเบียบให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ศึกษาอย่างสะดวกรวดเร็ว” นายแสวงกล่าว
นายแสวง ยังกล่าวว่า การหาเสียงและการทำหน้าที่ต้องแยกออกจากกัน การหาเสียง ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรี ส.ส หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ก็ต้องหาเสียงภายใต้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเสภอภาคกัน เช่น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี ใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้เงินไม่ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น ส่วนการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ก็ทำหน้าตามกฎหมายที่ให้อำนาจใว้ตามปกติ กกต.ไม่อาจไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าทำตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และระเบียบนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการเดิม คำอธิบายเดิม เพียงแต่ระยะเวลาใช้บังคับยาวนานขึ้น คือ 180 วันซึ่งระยะเวลาหนึ่ง 180 วัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น หากจะให้เวลาใช้บังคับในการหาเสียงน้อยลง ต้องแก้กฎหมาย และต้องแก้โดยรัฐสภา ไม่ใช่ กกต.
แต่ที่ กกต.แจ้งและดำเนินการก็เพื่อความเรียบร้อย และความหวังดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากมีผู้นำมาร้องเรียน ร้องคัดค้านภายหลัง ผลเสียก็จะเกิดแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร 1 ปี (ใบส้ม) หรือ ตลอดชีวิต(ใบดำ) เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ หรือยุบพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี
ที่มาภาพปก : https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_news.php?nid=8372&filename=index