‘ชัชชาติ’ นัด ‘เสรี ศุภราทิตย์-กรมชลฯ’ หารือน้ำท่วมจากฝนกระหน่ำ ยอมรับในเดือน ก.ย.นี้ ฝนเทมากกว่าเดิม 150 % วางบทบาทเป็นแนวร่วมชุมชน เล็งถกผู้ว่าจังหวัดใกล้เคียงเรื่องระบายน้ำ - เตรียมการ PM2.5 ด้านโฆษก กทม. เผยการเยียวยา ‘ลาดกระบัง’ รอ ปภ. เคาะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 กันยายน 2565 เมื่อเวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เพื่อเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม ณ ห้องประชุมโรงเรียนกุศลศึกษา วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร เขตตลิ่งชัน
ย้ำ ก.ย. ฝนตกหนักเพิ่ม 150%
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกับอาจารย์เสรี ซึ่งได้เชิญ กทม. กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนด้วย มาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งท่านได้สรุปให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงมีความชัดเจนขึ้น ฝนที่เพิ่มขึ้นก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน สอดคล้องกับที่เราเห็นว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ฝนตกที่เพิ่มขึ้น 150 % ในช่วงต้นเดือนแรกของเดือนกันยายน เป็นผลให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งแผนการรองรับต้องคุยกันในรายละเอียดให้ยาวขึ้นว่าจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร จะวางแผนโครงการอย่างไร ซึ่งอาจารย์เสรีก็ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
โดยในระยะสั้นต้องมีการบัญชาการจากกทม. จัดให้ผอ.เขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นตัวกำกับ จะเห็นภาพรวมของน้ำทั้งหมด การจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งปลัด รองปลัด และสำนักการระบายน้ำ โดยมีผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า ที่อาจารย์เสรีพูดมาเป็นสิ่งที่ดีมากๆ การเอาชุมชนและประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม อย่าให้เขารอให้เราเข้าไปแก้ปัญหาให้ ให้เอาเขามาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหาและเป็นคำตอบให้เราด้วย จริงๆ แล้วเรามีแนวร่วมอีกเป็นแสนเป็นล้านคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น
ประสานชุมชนในพื้นที่ร่วมด้วยช่วยกัน
ผู้ว่า ฯกทม. ได้ยกตัวอย่างเมื่อวานนี้ (16 ก.ย. 65) ที่ได้ไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านหนึ่ง มีจุดที่น้ำรั่วเข้ามา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สามารถชี้จุดได้เลย ไม่ต้องรอให้น้ำเข้ามาก่อน การลงพื้นที่ในหลายๆ แห่ง ประชาชนจะเป็นคนพาไปชี้เลยว่า ตรงไหนจุดอ่อน เราอาจจะทำเป็นแนวร่วม หรือหน่วยอาสากู้น้ำท่วมในชุมชน กทม.อาจจะให้ทรัพยากรไปช่วย เช่น กระสอบทราย เมื่อถึงเวลา ประชาชนก็อาจจะมาช่วยอุดช่วยอะไรได้ โดยที่เรายังไม่ทันเข้าไป โดยดำเนินการบรรเทาไปก่อน เป็นการยับยั้งวิกฤติไปก่อน รวมถึงการให้ข้อมูลน้ำข้อมูลปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพัฒนากันต่อ
ส่วนในระยะยาวที่อาจารย์เสรีพูดถึงจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน จังหวัดต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าดูจากแผนการระบายน้ำของกทม.ที่ผ่านมา เราจะระบายน้ำไปในพื้นที่ของเราเอง จากแสนแสบมาที่ประตูระบายน้ำพระโขนง ลาดพร้าวมาออกบางซื่อ ก็อยู่ในพื้นที่กทม.ทั้งหมด ลาดกระบังมาออกประเวศ ทำให้ทุกอย่างมันไหลมาอยู่ที่ตรงกลางทั้งหมด แต่ในอนาคตไม่ได้แล้ว ยิ่งน้ำทางตอนเหนือที่อาจารย์เสรีพูด ต้องผ่านทางจังหวัดอื่นต้องดูน้ำในภาพรวม
เล็งหารือจังหวัดรอบข้างเรื่องระบายน้ำ - PM2.5
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้ว แต่ละจังหวัดต้องพูดคุยกัน โดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าแต่ละจังหวัดระบายน้ำเองไม่ได้แน่ ต้องมีการหารือกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับปริมณฑล ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องฝุ่น PM2.5 ก็คล้ายๆกัน ฝุ่นก็ลอยข้ามไปข้ามมา เรื่องมลพิษ เรื่องการจราจร เรื่องที่อยู่อาศัยต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต
‘ชัชชาติ’ รับปากวางแผนระยะยาว
ด้าน รศ.ดร.เสรี ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความกรุณามาร่วมพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชุมชนตลิ่งชัน รวมถึงจังหวัดรอยต่อที่มาร่วมคุยกัน ซึ่งก็พร้อมรับน้ำแต่ด้วยในข้อจำกัดต่างๆ ผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายและแผนการที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งมีความตั้งใจเกินร้อย ความตั้งใจที่ท่านมีคิดว่าประชาชนต้องสบายใจ อีกทั้งผู้ว่าฯ กทม. และรองผู้ว่าฯ กทม.ก็มีความรู้พื้นฐานในด้านนี้ เราจึงไม่กังวลในเรื่องแผนและนโยบายการบริหารจัดการ อนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ผู้ว่าฯ ก็รับปากว่าจะวางรากฐานให้ ถ้ามีผู้ว่าฯ ท่านใหม่มา ก็คงต้องเดินตามนโยบาย หากไม่เดินแล้วก็จะติดขัดอีก ท้ายนี้ขอขอบคุณที่ท่านจะวางรากฐานไว้ให้
กรมชลฯ เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกลงทะเล
ด้านดร.ธเนศร์ กล่าวด้วยว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเห็นว่าการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเขตลาดกระบัง คลองประเวศ คลองแสนแสบ เราได้พยายามที่จะติดตั้งเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในแนวเหนือใต้ให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
“จริงๆ แล้ว แผนบริหารจัดน้ำก็มีการวางรากฐานมานาน ผู้ว่าฯ หลายท่านที่ผ่านมาก็ได้วางสิ่งดีๆ เอาไว้ ก็นำมาปรับปรุงบ้างหรือว่าเพิ่มเติมเข้าไป เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เพิ่งทำนะ ทำมาหลายผู้ว่าฯ แล้ว ทำต่อเนื่องกันมา อุโมงค์ระบายน้ำก็เป็นผลงานของหลายผู้ว่าฯ ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เอาแผนมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
รอ ปภ. เคาะ เยียวยา ‘ลาดกระบัง’
ขณะที่นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. กล่าวถึงกรณีมีผู้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง หลังจากได้ออกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ว่า ทางกรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมหารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ ปภ.กำลังเร่งจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือในแต่ละด้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันจันทร์นี้และจะนำมาพิจารณาสรุปร่วมกับกทม. อีกครั้ง หลังจากนั้นสำนักงานเขตจะประกาศแจ้งให้ผู้ประสบภัยมาลงทะเบียนเพื่อขอรับช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือที่พิจารณาจะครอบคลุมด้านการดำรงชีพ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม เช่น ถุงยังชีพ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพที่เสียหายจากน้ำท่วม เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ในลาดกระบัง ขณะนี้เหลือน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตลาดกระบังประมาณ 14 จุด ซึ่งเฉลี่ยมีระดับความสูง 5-10 ซม. และยังมีจุดที่มีระดับลึก 20 ซม. เหลือประมาณ 4 จุด และเมื่อดูจากค่าระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์แล้ว มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤติ