‘ธปท.’ เผยคนไทย 37% ยังไม่มีการใช้งาน ‘ดิจิทัลเพย์เมนต์’ ขณะที่ 54% ใช้งานค่อนข้างมาก พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบ ‘PromptBiz’ สนับสนุนการชำระเงินทางดิจิทัลของภาคธุรกิจ คาดเปิดให้บริการเฟสแรก ไตรมาส 1 ปีหน้า
......................................
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน Media Briefing ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงิน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ว่า แม้ว่าที่ผ่านมาภาคประชาชนได้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน PromptPay อย่างกว้างขวาง แต่ในภาคธุรกิจกลับมีการใช้บริการระบบชำระเงินทางดิจิทัล (Digital payment) ไม่มากนัก
ดังนั้น ธปท. ITMX ธนาคาร และภาคธุรกิจ จึงร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้การชำระเงินทางดิจิทัลของภาคธุรกิจเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมโยงกับด้านการค้าที่เรียกว่า PromptBiz หรือระบบการชำระเงินทางดิจิทัลของภาคธุรกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะเปิดให้บริการระบบ PromptBiz เฟสแรกได้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
น.ส.สิริธิดา ยังระบุว่า จากการสำรวจพฤติกรรมคนไทยในการใช้งาน Digital payment พบว่า มีประชาชน 54% ที่มีการใช้งาน Digital payment ค่อนข้างมาก แต่ปรากฏว่าประชาชนเกือบครึ่งหนึ่ง หรือเกิน 40% มีการใช้งานค่อนข้างน้อย ซึ่งในจำนวนนี้มี 37% ที่ไม่มีการใช้งาน Digital payment เลย ทำให้ ธปท. ต้องพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้งาน Digital payment ให้มากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้งานน้อยและกลุ่มที่ไม่มีการใช้งานเลย
“เราต้องเข้าไปดูถึงสาเหตุและวิเคราะห์รายละเอียด เพื่อให้มีบริการที่ตรงกับความต้องการของเขามากขึ้น หรือทำอย่างไรให้เขามาใช้การบริการชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งอันหนึ่งที่เราต้องทำ คือ การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และความท้าทายอันหนึ่ง คือ มิจฉาชีพที่มีกลโกงใหม่ๆเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ใช้บริการควบคู่กันไป เพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้ รู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และดูแลความเสี่ยงเบื้องต้นได้” น.ส.สิริธิดา กล่าว
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า หลังจาก ธปท. ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อเดือน ก.พ.2565 ล่าสุด ธปท. จัดทำ “ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงินในระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565–2567) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคการเงินไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการชำระเงินดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ 3 หลักการ คือ การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness) ,การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) และการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) เพื่อให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพและการแข่งขัน และให้ไทยพร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง โดยมีแผนกลยุทธ์ ดังนี้
1.การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness) จะเน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลด้านการชำระเงินร่วมกันของภาคส่วนต่างๆมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเพิ่มบทบาทด้านการชำระเงินของไทยในเวทีสากล โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งข้อมูลทางการค้าและการชำระเงินดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างครบวงจร (ระบบ PromptBiz)
การยกระดับการนำมาตรฐานสากลและมาตรฐานกลางมาใช้ในระบบการชำระเงิน เช่น มาตรฐาน ISO20022 มาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างระบบและผู้ให้บริการ (Application Programming Interface: API) เป็นต้น
การมีโครงสร้างด้านธรรมาภิบาลของระบบการชำระเงินที่เหมาะสม เพื่อรองรับพัฒนาการด้านการชำระเงินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ,การพัฒนาฐานข้อมูลการชำระเงินภายใต้โครงการ Regulatory Data Transformation (RDT) และการบูรณาการข้อมูลชำระเงินร่วมกับภาครัฐเพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้ข้อมูลในวงกว้าง และการมีหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สำคัญ
2.การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง เพื่อผลักดันให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของคนไทย โดยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ให้บริการชำระเงินที่สำคัญ ในการขยายการชำระเงินดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
อาทิ การชำระเงินดิจิทัลในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การต่อยอดบริการชำระเงินดิจิทัลกับแอปพลิเคชันภาครัฐที่ครอบคลุมการใช้งานในวงกว้าง รวมทั้งการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างถูกต้องและปลอดภัยให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
3.การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) โดยมุ่งเน้นความมีประสิทธิผลและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในวงกว้าง แผนงานสำคัญ ได้แก่ การทบทวนหรือปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การกํากับดูแลตามแนวทาง Regulatory Impact Assessment (RIA) ให้ยืดหยุ่นและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงิน ,การออกหลักเกณฑ์ด้านการชำระเงินเพื่อรองรับเทคโนโลยีและความเสี่ยงใหม่ เช่น การกำกับดูแลนวัตกรรมการชำระเงินต่างๆ
การปรับแนวทางและเครื่องมือการกำกับดูแลให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเครื่องมือกำกับตรวจสอบ (supervisory technology) ,การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
ส่วนผลการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงิน ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562-64 นั้น คนไทยทำธุรกรรมผ่าน Mobile banking เป็นอันดับ 1 ของโลก ,มีจำนวนผู้ลงทะเบียน PromptPay (พร้อมเพย์) 69 ล้านเลขหมาย มีผู้ใช้งานเฉลี่ยวันละ 36 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยต่อวัน 1.13 แสนล้านบาท ,มีจำนวนจุดรับชำระเงินด้วย QR Code กว่า 7 ล้านจุด และมีการใช้จ่ายและชำระเงินผ่าน Mobile/Internet Banking คิดเป็น 78% ของ Digital payment ทั้งหมด
นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า ระบบ PromptBiz จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ เช่น เรื่องการชำระเงิน ซึ่งภาคธุรกิจสามารถเลือกชำระเงินทั้งหมดในครั้งเดียว หรือชำระเงินบางส่วน หรือเลือกชำระเงินหลายๆธุรกรรมพร้อมกันได้ ,การส่งข้อมูลทางการค้า ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จ และการชำระภาษี ผ่านระบบ PromptBiz รวมทั้งใช้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น เอกสารทางการค้าและเอกสารการชำระเงิน เป็นต้น