‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกฟ้องคดี ‘เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง’ ฟ้องศาลฯขอให้สั่งยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของ ‘กฟผ.’ ชี้ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
....................................
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กับพวกรวม 37 คน (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของ กฟผ. เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดี (กฟผ.กับพวก) ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
“เมื่อบทบัญญัติมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ซึ่งใช้ในขณะเกิดเหตุคดีนี้) ได้บัญญัติให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น
แต่ในประเด็นนี้ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในเรื่องการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวบัญญัติไว้แต่อย่างใด
อีกทั้งประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่บังคับใช้ขณะเกิดข้อพิพาท ขณะได้มีการดำเนินโครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี นั้น ก็มิได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กระทรวงพลังงาน) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (คณะรัฐมนตรี) จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไขยะบุรีแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 37 จึงไม่อาจรับฟังได้” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คดีหมายเลขดำที่ อส.11/2549 คดีหมายเลขแดงที่ อส.49/2565 ระบุ
คำพิพากษาของศาลฯยังระบุด้วยว่า “แม้โครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีจะเป็นโครงการหรือกิจกรรมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กระทรวงพลังงาน) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (คณะรัฐมนตรี) แต่โครงการหรือกิจกรรมเช่นว่า หามีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญ แต่อย่างใดไม่
โครงการดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) จะได้ทำการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีแต่อย่างใดอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายนิวัฒน์) และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 37 ในประเด็นนี้ไม่อาจรับฟังได้”
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี อ้างในคำอุทธรณ์ว่าการดำเนินการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538 และกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังที่ สปป. ลาว เจ้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ได้ยื่นเสนอโครงการแก่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และต่อมาสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แจ้งให้ราชอาณาจักรไทย โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารีอล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) โดยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2554 ณ อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการให้ข้อมูล 86 คน จากพื้นที่ จ.เชียงราย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2554 ณ อ.เชียงคาน จ.เลย โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการให้ข้อมูล 127 คน จากพื้นที่ จ.เลย หนองคายและบึงกาฬ
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2554 ณ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการให้ข้อมูล 125 คน จากพื้นที่ จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และประชุมสรุปผลที่ได้จากเวทีทั้ง 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2554 โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการอิสระ สมาชิกวุฒิสภา และคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ มาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม และแนวทางการดำเนินงานครั้งต่อไป
อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการนำข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเท่าที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยจากรัฐบาล สปป. ลาว ลงเผยแพรในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) เกี่ยวกับการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีการดำเนินโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรีแล้ว
ดังนั้น จึงฟังว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ) ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะผูกพันของราชอาณาจักรไทยในเรื่องระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงมิได้ละเลยหน้าที่แต่อย่างใด
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (นายนิวัฒน์และพวก) ฟ้องว่า กฟผ. กับพวกรวม 5 คน ได้มีมติให้ดำเนินโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรง ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้ถูกต้อง
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และที่ 5 (คณะรัฐมนตรี) มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) และที่ 3 (กระทรวงพลังงาน) เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 ได้เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีบนเว็บไซต์ www.eppo.go.th และบนเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
จึงถือได้ว่าได้มีการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) และที่ 5 (คณะรัฐมนตรี) จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) และที่ 3 (กระทรวงพลังงาน) ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีเช่นกัน
นอกจากนี้ การดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีการดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี และไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ในกรณีดังกล่าว