กทม.โล่ง 17 คนที่เสี่ยงติด‘ฝีดาษลิง’ ยังไม่พบเชื้อ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ส่วนสถานการณ์โควิด พบหลังหยุดยาวคนติดเชื้อพุ่ง 3,000 คน หากรวมการตรวจอื่นๆอาจะแตะ 10,000 คน ชี้เตียงรองรับคนป่วยยังมีพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ครั้งที่ 15/2565 โดย มีคณะผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง
โดยนางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากทม. เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคฝีดาษลิงมีข้อมูลใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
1. การสอบสวนโรคต่อเนื่องถึงกลุ่มผู้สัมผัสและมีความเสี่ยงทั้ง 17 ราย ที่เป็นคนแวดล้อมของผู้ป่วย ซึงได้มีการตรวจโรคและมีผลยืนยันจากห้องแล็บว่าไม่ติดเชื้อ ทางศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) สำนักอนามัย ได้เข้าทำการฆ่าเชื้อบ้านพักและบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งทำความเข้ากับประชาชนในพื้นที่ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร มีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไร ส่วนชาวต่างชาติอีก 1 รายอยู่ระหว่างติดตามตัว
2. สถานะของผู้ป่วยปัจจุบันที่อยู่ที่วชิรพยาบาล ตอนนี้อาการดีขึ้น มีการกักตัวต่อเนื่องตามระยะเวลาและอยู่ในห้องความดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
3. ได้มีการประชาสัมพันธ์ 2 ส่วน แบ่งเป็น ภาคประชาชน ลักษณะของฝีดาษลิงเป็นอย่างไร เฝ้าระวังอย่างไร จะดูแลอาการเบื้องต้น และดูว่ามีความเสี่ยงแบบไหนที่อาจเกิดโรคได้ ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ไม่ได้ติดต่อได้โดยง่าย มาตรการที่เราใช้กับโควิด-19 สามารถใช้ได้ การรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยช่วยได้ ที่สำคัญที่สุดเพิ่มเติมคือการล้างมือให้บ่อยขึ้น ทางการแพทย์บอกว่าให้ล้างมือนานหน่อยจะดีมากในการป้องกันการติดเชื้อ
ส่วนการประชาสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งคือ ภาคบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล กรณีมีผู้สงสัยเวลามีผื่นหรือมีตุ่มแล้วไปตรวจที่สถานพยาบาลให้บุคลากรทางการแพทย์เฝ้าระวังและตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม เพราะถ้าเห็นตั้งแต่แรกก็สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายและทำเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
หยุดยาวติดโควิดอื้อ 3,000 คน
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ จำนวนผู้ป่วยในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมามีรายงานการเข้าไปรักษาที่สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และวชิรพยาบาล อยู่ที่เกือบ 3,000 ราย เป็นสัดส่วนล้อกับของทั้งประเทศ ข้อมูลคร่าวๆ คาดว่าเมื่อรวมกับผลตรวจอย่างอื่นด้วยผู้ป่วยจะอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 ราย ถ้าช่วยกันทั้งในการฉีดวัคซีน ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย น่าจะอยู่ในเส้นทางที่สามารถช่วยควบคุมหรือลดจำนวนผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อลงไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ผู้ป่วยไม่มีอาการ
จำนวนการครองเตียงของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครยังสามารถให้บริการประชาชนได้ โดยโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองยังมีเตียงรองรับได้ประมาณ 70-80% ส่วนโรงพยาบาลรอบนอกยังสามารถรับได้ซึ่งมีอัตราการครองเตียงไม่เกิน 40% โรงพยาบาลสนามที่เปิดมีอัตราการครองเตียง 10% หรือ 10% นิดๆ ยังสามารถรับผู้ป่วยได้ โดยผู้ป่วยจำนวนมากสุดจะเป็นสีเขียว เหลืองหน่อยๆ ที่ต้องการแยกตัวจากครอบครัวหรือมีอาการบ้าง ยาที่มีสำรองอยู่ในโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขยังพออยู่ มีการวิเคราะห์การใช้ยาล่วงหน้า 3 วัน 5 วัน อยู่แล้ว
ปัจจุบันศูนย์บริการสาธารณสุขเปิดให้บริการวันเสาร์ด้วย เพื่อให้บริการเพิ่มเติมการรักษาโควิด-19 การฉีดวัคซีน การจ่ายยา นอกจากนี้โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการส่งผลตรวจ ATK พร้อมบัตรประชาชนออนไลน์ได้ด้วย ยืนยันสิทธิมาที่โรงพยาบาลก็จะจ่ายยาให้ พร้อมกันนี้ได้มีการกำชับให้ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัด ติดตามผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่อาจรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือติดต่อโรงพยาบาลผ่านระบบออนไลน์ บางครั้งอาจมีความซับซ้อนทางร่างกายและอาการ หรือความเจ็บป่วยก่อนหน้าอยู่ ให้มีการติดตามใกล้ชิด เป็นการเฝ้าระวัง เพราะอาการอาจดีขึ้นตอนรับยา แต่ผ่านไป 2-3 วัน อาจมีเงื่อนไขอื่นเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีช่วงที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างมากและยาค่อนข้างตึง กรุงเทพมหามหานครได้มอบหมายให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์พร้อมไว้กรณีจำเป็นต้องเปิดศูนย์พักคอย (CI) โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่น แต่ช่วงนี้โรงพยาบาลสนามเอราวัณเปิดหมด รวมถึงประสานความร่วมมือกับเครือข่ายประชาสังคมเพื่อไม่ให้มีเคสหลุด ความสามารถของระบบหลักยังดีอยู่ ตอนนี้โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานครยังรับได้ทั้งหมด