‘ศรีสุวรรณ’ ยื่น กกต.สอบพรรคเล็ก รับเดือนละแสนก่อนลงมติซักฟอก ชี้โทษถึงยุบพรรค เชื่อไม่เกิน 3 เดือนรู้ผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่มีกระแสข่าวพรรคเล็กรับเงินก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า วันนี้เตรียมหลักฐานทั้งหมด 8 หน้า ประกอบด้วยหลักฐานการโอนเงินไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคเล็ก 4 พรรครวม 5 คน รวมถึงสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทางตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองด้วยโดยจ่ายกันเป็นรายเดือนๆละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ส.ส.ที่ตนมายื่นเรื่องจะต้องชี้แจงต่อ กกต. เพราะว่าการโอนเงินเหล่านั้นมีระยะเวลาที่กระชั้นชิดห่างกันกันแค่ 1-2 นาที ซึ่งมีพิรุธ และผิดสังเกต ทำให้ กกต.จะต้องขับไล่นักการเมืองเหล่านี้ออกไปเสียออกจากแวดวงการเมืองของประเทศ มิเช่นนั้นปล่อยให้นักการเมืองเหล่านี้มาขอเงิน หรือปล่อยให้บุคคลอื่นมาครอบงำ ประชาชนจะพึ่งหวังใครได้
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ตนยังนำบทสัมภาษณ์ของ ส.ส.บางคนที่ยอมรับว่ารับเงินนำไปใช้เพื่อลงพื้นที่ไปดูแลชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง จะถือเป็นรายได้หรือรายรับของพรรคการเมืองตาม ม.62(5) และหรือ (7) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 หรือไม่ และได้มีการประกาศให้ประชาชนทราบตาม ม.65 และหรือได้มีการปฏิบัติตาม ม.67 ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หรือมีการจัดทำและลงรายการทางบัญชีรายรับ-รายจ่ายของพรรคการเมืองตาม ม.59 หรือไม่ ฯลฯ
แต่หากไม่ใช่ก็อาจถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทันที อาจเข้าข่ายความผิดตาม ม.72 ประกอบ ม.126 ของกฎหมายพรรคการเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลกำหนด นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.28 ประกอบ ม.92(3) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้อีกด้วย ที่บัญญัติห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบ เบื้องต้น กกต.ได้ตั้งคณะทำงานมาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานสื่อมวลชนได้รายงานไปแล้วบางส่วน ถ้าได้รับข้อมูลจากตนจะทำให้หลักฐานมีความแน่นหนามากยิ่งขึ้น ถ้ารวบรวมหลักฐานครบก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพิ่มเติม คาดว่าระยะเวลาในการตรวจสอบไม่ควรจะเกิน 3 เดือน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ตนได้เคยไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องจริยธรรมของส.ส.กรณีที่มีการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท ซึ่งศาลฎีกามีโทษสามารถตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างน้อย 10 ปี