‘ชัชชาติ’ ประชุมผู้บริหารกทม. ปม ‘ฝีดาษลิง’ เร่งประสานร้านขายยาช่วยเฝ้าระวัง เล็งสุ่มตรวจพื้นที่ที่มีชาวไนจีเรียอยู่จำนวนมาก เปิด 16 Action Plan คุมฝุ่น PM2.5 ก่อนเคาะเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กเล็กเป็น 32 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2565 ว่า ที่ประชุมมีการหารือหลายประเด็น
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ กรณีโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับเตือนภัย โรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) ต่อจากโรคโควิด-19 จากโควิด
ประสานร้านขายยาเป็นหูเป็นตา
การดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักอนามัย กทม. คือ ให้ความรู้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ ทำหนังสือแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก โรงพยาบาล หากพบผู้ต้องสงสัยให้แจ้งไปยังกรมควบคุมโรค สำนักอนามัย ประสานสมาคมโรงแรมไทย เพื่อแจ้งโรงแรมทุกแห่งใน กทม. หากพบผู้ป่วยสงสัยให้รายงานไปที่สำนักงานเขต/และหรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 0
โดยมีแผนที่จะจะดำเนินการต่อไป คือ ประสานร้านขายยาในพื้นที่ กทม. เพื่อช่วยเฝ้าระวัง ประสานกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อให้ความรู้และร่วมเฝ้าระวัง และสังเกตอาการของคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งจะมีผื่นนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และสะเก็ด โดยอาจจะไปดูชุมชนไนจีเรียที่เขาอยู่รวมกันว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ซึ่งจะได้ดำเนินการในเชิงรุกต่อไป
เปิดแผน 16 ข้อคุม PM2.5
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เริ่มดำเนินการจากที่ได้ไปคุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มา โดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน มีปลัด ทส. กับ ปลัด กทม. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีทั้งหมด 16 แผนปฏิบัติการ (Action Plan) คือ
1. วินิจฉัยหาต้นเหตุ คือตอนนี้เราไม่มีงานวิจัยเรื่องฝุ่นที่ต่อเนื่อง 2. ทำโครงการนักสืบฝุ่น 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น เพราะมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องการหน้ากาก 4. การตรวจโรงงานทั้งหมด แหล่งที่มาของฝุ่นหลัก ๆ คือมาจากรถยนต์ โรงงาน จากการเผาชีวมวล การก่อสร้าง 5. การใช้ CCTV ในการจับรถปล่อยควันดำ สามารถไปดูทะเบียนได้ เป็นตัวช่วยในการหารถที่มีปัญหา 6. การพัฒนาโครงการและผู้ประกอบการ โดยในเดือนตุลาคมจะมีการออกประกาศหรือเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการก่อสร้าง ต้องไม่ใช้รถที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ให้เป็นมาตรการเข้มข้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีมาตรการนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัว โดยรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างที่เข้ามาในไซต์งานจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษ 7. มีการแจ้งเตือนฝุ่น PM 2.5 มีการใช้การพยากรณ์ที่แม่นยำ ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8. Traffy Fondue เป็นตัวแจ้งเหตุ
9. เฝ้าระวังกิจกรรมที่สำนักงานเขตดำเนินการ เช่น กิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น การเผาศพ เรื่องการจุดธูป 10. มี Open Data ข้อมูลฝุ่นให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจน มีการตรวจวัดรถควันดำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 12. พยายามให้รถราชการใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 13. การตรวจควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจควันดำของรถราชการทั้งหมด 15. ขยายระบบตรวจวัดแต่เดิมมีอยู่ประมาณ 70 จุดของกทม ขยายเพิ่มเป็น 1,000 จุด โดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ มีเครือข่ายของบริษัท NT มาร่วม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งตอนนี้มีอยู่ 12 จุด และ 16. กำหนดพื้นที่ BKK Clean Air Area คือพื้นที่ที่มีความหนาแน่น พยายามจะลดฝุ่นลง จำกัดเรื่องการเข้าพื้นที่ หาแรงจูงใจในการลดการเข้าพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 มาก
“แผนปฏิบัติการย่อย 16 แผน ได้ดำเนินการแล้วเพราะว่าการทำเรื่องฝุ่นต้องเตรียมตัวนาน ช่วงปลายปีหน้าฝุ่นน่าจะบรรเทาลงไปได้ ต่อไปคงมีหน่วยงานอื่นมาร่วม เป็นตำรวจหรือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายชัชชาติกล่าว
เพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กเป็น 32 บาท
ส่วนของศูนย์ดูแลเด็กก่อนวัยเรียน 2-6 ขวบ มีค่าอาหารอยู่ที่ 20 บาท กำลังพิจารณาค่าอาหารให้เหมาะสม โดยกรรมการเสนออยู่ที่ 32 บาท และเรื่องอัตราของครูอาสาที่มาสอน จะปรับให้เหมาะสมตามวุฒิ ซึ่งถ้ากรรมการสรุปแล้วก็สามารถประกาศได้ทันที รวมทั้งมีนโยบายที่จะเพิ่มค่าหนังสือค่าอุปกรณ์ด้วย ปัจจุบันให้หัวละ 100 บาท ต่อปี ซึ่งไม่พอ ที่กรรมการเสนอมาคือ 600 บาท สามารถทำให้ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนได้ดีขึ้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครดูแลเด็กก่อนวัยเรียนประมาณ 19,000 คน ไม่เยอะเนื่องจากปีนึงจะมีเด็กประมาณ 60,000 คน เด็กส่วนหนึ่งอยู่ในสถานศึกษาที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ดูแล ทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น