'พีระพันธุ์' เผยประชุมบอร์ดใหญ่นัดแรก ชูจุดยืนมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ เปิดตัวเลขร้องเรียนปัญหาผ่านทำเนียบเกือบ 1.7 แสนเรื่อง อันดับหนึ่ง คือ ผลกระทบจากโควิด พร้อมโชว์ผลงานปิดเคสแล้ว 96%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานเพื่อประชาชนหลังจากได้รับการร้องเรียนเพื่อขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขและช่วยเหลือ
นายพีระพันธุ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า สำหรับคณะกรรมการฯ ชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยมีหน้าที่และอำนาจ คือ
-
ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ตามข้อร้องเรียนที่ประชาชนยื่นมายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายรัฐมนตรี และที่ยื่นต่อคณะกรรมการและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง
-
ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องที่คณะกรรมการมอบหมาย
“คณะกรรมการชุดนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับประชาชน เนื่องจากท่านนายกฯ ต้องการให้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนจริงๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เรื่องไหนที่ประชาชนเข้าใจผิดก็ต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง และอยากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันเพื่อให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น และอยากให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนในเรื่องที่เขาเดือดร้อนได้ เราต้องทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง พร้อมติดตามผล และประสานงานกับทุกจังหวัดเข้าไปร่วมแก้ไขอย่างทันท่วงที” นายพีระพันธ์กล่าว
นายพีระพันธ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนได้สั่งทีมงานลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ 2 กรณีเร่งด่วน ได้แก่ กรณีถูกหน่วยงานภาครัฐเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และกรณีขอความช่วยเหลือเยียวยาจากความยากจนของครอบครัวผู้พิการใน จ.ร้อยเอ็ด โดยทั้งสองเรื่องดังกล่าว ได้สั่งการให้ทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามผลเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว
ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการกับข้อร้องเรียนอื่นๆ ด้วย โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวทุกวันจันทร์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมในครั้งถัดไปจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่รับเรื่องและกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่าง และนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น
จากข้อมูลสถิติเรื่องราวร้องทุกข์ และแสดงความคิดเห็นจากประชาชนผ่านศูนย์รับร้องเรียน 1111 สำนักปลัดพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 6 กรกฎาคม 2565 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 169,930 เรื่อง
โดยเรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุดอันดับแรก เป็นประเด็นเกี่ยวกับการสอบถามข้อมูล และร้องทุกข์เกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 123,630 เรื่อง คิดเป็น 72.75% และที่เหลืออันดับที่สองเป็นเรื่องทั่วไป ทั้งเรื่องการร้องทุกข์ แจ้งเหตุ แจ้งเบาะแส และเสนอความเห็น 46,300 เรื่อง คิดเป็น 27.25%
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการติดตามและยุติเรื่องร้องเรียนไปทั้งหมด 164,409 เรื่อง คิดเป็น 96.75% และรอผลอีก 5,521 เรื่อง
ส่วนภาพรวมเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนส่งเรื่องเพื่อขอให้เร่งแก้ไข 5 อันดับแรก ได้แก่
-
ประเด็นการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19
-
ประเด็นการร้องทุกข์/เสนอข้อคิดเห็น-การกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยาโควิด-19
-
เสียงดังรบกวน และการสั่นสะเทือน
-
การเสนอตรากฎหมาย
-
ประเด็นด้านไฟฟ้า
ทั้งนี้ แบ่งเป็นประเภทเรื่องหลักที่มีการร้องทุกข์/มองเสนอความคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่ ประเภทสังคมและสวัสดิการ 31,818 เรื่อง ประเภทเศรษฐกิจ 6,799 เรื่อง ประเภทกฎหมาย 6,243 เรื่อง การร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4,356 เรื่อง ประเภทการเมืองการปกครอง 3,353 เรื่อง ประเภททรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1,638 เรื่อง และ ประเภท พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก 7 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 54,214 เรื่อง โดยดำเนินการจนได้ข้อยุติ 48,665 เรื่อง และรอผลการพิจารณาจำนวน 5,549 เรื่อง
สำหรับประเด็นที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา 10 อันดับแรก ได้แก่ การรักษาพยาบาล,เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน,การเสนอและตรากฎหมาย,ไฟฟ้า,โทรศัพท์,น้ำประปา,ถนน,ผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐ,การเอง และประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตามลำดับ
ขณะที่หน่วยงานที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องมากที่สุด 10 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานจเรตำรวจ,สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข,สำนักงานประกันสังคม,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง,สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล,กรมการขนส่งทางบก,กรมสรรพากร,สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย,สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับโอน
ส่วนจังหวัดที่ได้มีการประสานงานเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการร้องเรียนของประชาชนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,นนทบุรี,สมุทรปราการ,ปทุมธานี,ชลบุรี,นครปฐม,พระนครศรีอยุธยา,สงขลา,นครศรีธรรมราช และ นครราชสีมา ตามลำดับ