‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เปิดปัญหาประเทศไทย ‘ความเหลื่อมล้ำสูง-สังคมสูงวัย’ ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ‘รัฐสวัสดิการ’ คือทางออก เชื่อ ‘ก้าวไกล-ก้าวหน้า’ ทำได้จริงถ้าเป็นรัฐบาลและบ้านเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวในงานเสวนา ‘8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตประชาธิปไตยไทย’ ว่า ประชากร 1% สุดท้ายของประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,759 บาทต่อเดือน ประชากร 1% ตรงกลางมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือน ส่วนประชากร 1% สุดท้าย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 33,900 บาทต่อเดือน ไม่นับ 0.1% ส่วนบนสุดที่มีรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้ถึง 99% มีรายได้น้อยกว่า 33,900 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
และยิ่งน่าตกใจ คือคนไทยที่จัดอันดับได้ว่า เป็นมหาเศรษฐี หรือคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 30,000 ล้านบาท มีถึง 28 คนจาก 2,668 คนทั่วโลก หรือคิดเป็น 10.5% เมื่อเทียบขนาดของเศรษฐกิจไทยที่คิดเป็นเพียง 0.6% ของเศรษฐกิจโลก หรือเพียง 5 แสนล้านดอลลาร์ จากขนาดของเศรษฐกิจทั้งโลกที่มีมูลค่าถึง 84 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก และหากความเหลื่อมล้ำยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้จะฉุดรั้งพลังความก้าวหน้าของประเทศไปจนหมดสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่มีอัตราส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีเกิน 20% โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการก้าวสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุด อนาคตของสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่คนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความกังวลในชีวิต ต้องดูแลคนสูงวัยมากขึ้น และหากไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในอนาคตไปอย่างมหาศาล
ชูรัฐสวัสดิการฝ่าทางตัน
นายธนาธร กล่าวต่อว่า การจัดสรรรัฐสวัสดิการให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาสถานการณ์จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพวกเราทั้งในนามอนาคตใหม่-ก้าวหน้า-ก้าวไกล มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้โดยไม่เป็นภาระทางการคลัง
นั่นคือใช้การเพิ่มแบบขั้นบันได จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนในปี 2567 เพิ่มไปเรื่อยๆ จนเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือนในปี 2570 โดยทำไปพร้อมกับการปฏิรูประบบการหารายได้และภาษีต่างๆ ของรัฐ เช่น การเปลี่ยนเกณฑ์ BOI การปฏิรูปกองทัพ ลดงบกระทรวงกลาโหม การปฏิรูปภาษีนิติบุคคล ฯลฯ ที่จะทำให้มีรายได้มากพอจัดสวัสดิการเบี้ยคนชราเป็น 3,000 บาทต่อเดือนได้ภายในปี 2570
นอกจากนี้ ในอนาคตจะต้องมีการสร้างงานให้คนรุ่นต่อไปมีรายได้ที่มั่นคงด้วยเศรษฐกิจสีเงิน ซึ่งจะเป็นการสร้างห่วงโซ่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ซึ่งจะสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนหนุ่มสาว พร้อมกับการรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยไปได้พร้อมกันด้วย
‘ประชาธิปไตย’ กุญแจรัฐสวัสดิการ
อย่างไรก็ตาม ทุกคนจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่า รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณล้วนแต่เป็นอำนาจของรัฐทั้งสิ้น หากที่มาของอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน การจัดสรรทรัพยากรก็จะไม่เป็นไปเพื่อประชาชน
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะสามารถผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังของประชาชน และการกดดันต่อพรรคการเมืองให้ทำสัญญา ให้สัตยาบันกับประชาชน ว่าจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศไทยให้ได้ในอนาคต
“ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการไม่ได้เลย ถ้าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ขึ้นกับความแข็งขันของการรณรงค์โดยภาคประชาสังคม กดดันพรรคการเมืองให้นำรัฐสวัสดิการมาเป็นนโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งให้ได้ เมื่อเสียงประชาชนเป็นใหญ่ ภาคการเมืองอย่างพวกผมจะต้องฟัง นำไปสู่การทำสัญญาประชาคมและการปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลังเลือกตั้ง ดังนั้น อีก 10 เดือนข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ และอนาคตของประเทศไทย”นายธนาธร กล่าว