3 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นที่ปรึกษาประธานสภาฯ ขีดเส้นให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา-กัญชง ยก 6 เหตุผลรองรับ พร้อมเรียกร้อง ‘สาธารณสุข’ เร่ง PR สร้างความรับรู้คุณ-โทษโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือ จาก นายพิสิฐ ลี้อาธรรม, นายบัญญัติ เจตนจันทร์ และนายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องขอให้ประธานรัฐสภากำหนดให้พื้นที่อาคารรัฐสภาทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคารเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา-กัญชง
สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิ.ย. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตร้าไฮโดรแคนาบินอล (tetrahydrocannabinol - THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติด นั้น จึงทำให้ประชาชนมีการตื่นตัวในการนำกัญชา-กัญชงมาใช้ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม อย่างแพร่หลาย โดยไม่ทราบถึง ประโยชน์และโทษ จึงขอให้ประธานรัฐสภากำหนดให้พื้นที่อาคารรัฐสภาทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคารเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา-กัญชง ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์จำนวนมากบ่งชี้ว่า การบริโภคหรือเสพกัญชา-กัญชงในปริมาณที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อระบบประสาท สมอง จิตประสาท ในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากพืชกัญชา-กัญขง จำนวนมาก หากไม่มีการควบคุมการบริโภคหรือเสพที่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ
2. พื้นที่อาคารรัฐสภามีลักษณะใช้ระบบทำความเย็น (ระบบปรับอากาศ) เป็นสำคัญ กรณีที่มีการบริโภคหรือเสพกัญชา-กัญชง ในพื้นที่อาคาร อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหรือเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญ แก่ผู้อื่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อาคารรัฐสภา ซึ่งไม่มีความประสงค์ที่จะบริโภคหรือเสพกัญชา-กัญชง
3. มีข่าวจำนวนมากที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับโทษ หรือผลข้างเคียงในการบริโภคกัญชา-กัญชง ซึ่งบางรายมีอาการไม่พึงประสงค์ (แพ้) โตยที่ประชาชนจำนวนมากไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้สารเคมีที่ได้จากกัญชา-กัญชงหรือไม่
4. พื้นที่อาคารรัฐสภา เป็นสถานที่ซึ่งคงไว้ด้วยความเชื่อมั่น-ศรัทธาแก่ประชาชนทุกคน การบริโภคหรือเสพพืชหรือผลผลิตจากกัญชา-กัญชง อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการแห่งนี้ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรากฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล การดำเนินการในฐานะตัวแทนของประชาชนทุกคน
5. เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของอาคารรัฐสภา
6. ปัจจุบันยังไม่มีบทกฎหมายที่ชัดเจนในการควบคุมการใช้งานหรือบริโภคกัญชา-กัญชง หรือ การคุ้มครองประชาชนจากมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในที่สาธารณะ
จึงขอให้ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามมาตราแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ ศ 2554 และข้อ 5 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 และจัดทำประกาศรัฐสภา หรือระเบียบรัฐสภา เพื่อกำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นทั้งภายในและภายนอกอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการหรือติดต่อราชการใช้ประโยชน์ร่วมกัน "เป็นเขตปลอดกัญชา-กัญชง" และให้สมาชิกรัฐสภา กรรมาธิการ คณะทำงาน ผู้ติดตามสมาชิกรัฐสภา ผู้มาติดต่อรายการ ข้าราชการและพนักงานของทั้งสองสภา งดการครอบครอง นำเข้ามาใช้ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย บริโภค หรือเสพพืชกัญชา-กัญชง ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีส่วนประกอบของพืชกัญชา-กัญชง รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง ในพื้นที่ของรัฐสภา
นพ.บัญญัติ เจตจันทร์ กล่าวเสริมว่า ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และโทษของกัญชา-กัญชง ให้ประชาชนได้ทราบอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประกาศถึงกลุ่มเปราะบางที่ให้งดใช้กัญชา ได้แก่ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร รวมถึงกลุ่มจิตเวชต่าง ๆ ที่ใช้สารกัญชา-กัญชงแล้วจะทำให้เกิดประสาทหลอน เป็นต้น