"...ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยประจำศูนย์เนคเทค สวทช. และเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ มิ.ย. 2561 โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด..."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการเรื่องร้องเรียน โดยระบบทราฟฟี่ฟองดูร์ (Traffy Fondue)
รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ได้ให้ความสำคัญปัญหาโครงสร้างของเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยเป็นปัญหาที่ต้องเจอในทุก ๆ วัน เช่น ฟุตบาทไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขยะไม่มีคนเก็บ เป็นต้น โดยนำระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เพื่อให้ประชาชนร่วมรายงานปัญหาที่พบในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถรับทราบข้อร้องเรียนได้ทันที ซึ่งเมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วสามารถแจ้งผลกลับไปยังประชาชนให้รับทราบได้โดยตรงและรวดเร็ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจการดำเนินการให้กับหน่วยงาน กทม. ตามแนวทางดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมในวันนี้ขึ้น โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้ปฏิบัติงานในการรับเรื่องร้องเรียนจากทุกสำนัก และทุกสำนักงานเขต รวมจำนวน 160 คน
สำหรับ ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยประจำศูนย์เนคเทค สวทช. และเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ มิ.ย. 2561 โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังมีระบบบริหารจัดการและติดตามปัญหา บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้อีกด้วย
“เราเป็นเจ้าของพื้นที่ ประชาชนเป็นเจ้านายเรา เราต้องรับทุกเรื่องที่เป็นปัญหาของทุกท่าน ซึ่งเป็นปัญหาของเรามากกว่าซึ่งเรายังจัดการได้ไม่ดี ต้องไปประสานงานให้ถูกต้อง และเร่งดำเนินการให้ได้ เราแก้วันนี้ไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ความตั้งใจเราส่งต่อได้ เราอยากทำให้มันดีขึ้นจริง ๆ” นายศานนท์ กล่าว
ร้องเรียนอื้อ 17,811 เรื่อง
สำหรับสถานะการดำเนินการระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.-10 มิ.ย. 65 พบว่า ทุกสำนักงานเขตได้มีการเข้าระบบครบ 100% โดยมีการศึกษาการทำงานของระบบด้วยตนเอง และสอบถามผ่านทางไลน์/โทรศัพท์ จากจำนวนเรื่องร้องเรียนเริ่มต้น 1,300 เรื่อง ปัจจุบัน 17,811 เรื่อง เพิ่มขึ้น 13 เท่า โดยในวันที่ 8 มิ.ย. 65 รับเรื่องสูงสุด 2,300 เรื่อง เบื้องต้นพบว่ามีเสียงชื่นชมจากประชาชนในการดำเนินงานแก้ไข โดยมีการแชร์เรื่องราวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนมาก
นายศานนท์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการใช้งาน มี 3 เรื่อง คือ 1. การประสานงานกับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานที่ กทม. ดูแลโดยตรง ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นและแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน 2. เรื่องระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งได้เน้นย้ำว่าระยะเวลาดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเร็วขึ้น 3.เรื่องทุจริต บางเรื่องมีการระบุข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องแยกหมวดออกมา และเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เราจะดูแลเส้นเลือดฝอยไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ไหน คนที่รู้ปัญหาดีที่สุดก็คือประชาชน ผมว่าเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดหาเครื่องมือ น้อมรับนำไปแก้ไข รวบรวมข้อมูลปัญหาและความคิดเห็นที่ประชาชนแจ้งเข้ามา ผมว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ใช้แค่เรื่องนี้ ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกนโยบาย“ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติม
ชัชชาติ โผล่ ร่วมประชุมทางไกล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ได้โทรศัพท์ออนไลน์ผ่านระบบทางไกลมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมประชุมพร้อมกับผู้แทนสำนักงานเขต 50 เขต และผู้เข้ารับการอบรมด้วย โดยกล่าวว่า การนำระบบทราฟฟี่ฟองดูว์มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นับเป็นการปฏิวัติรูปแบบการให้บริการของระบบราชการ ในอนาคตรูปแบบการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีมากขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเป็นระบบจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และเหนื่อยน้อยลงด้วย
“เมื่อก่อนประชาชนมีเรื่องร้องเรียนต้องมาหาเรา ติดตามเรื่องก็ยาก แต่พอเทคโนโลยีดีขึ้น ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบแพลตฟอร์มซึ่งเชื่อมตรงกลาง ทุกคนมาสามารถเข้ามาดูเรื่องได้ ทราฟฟี่ฟองดูว์ก็เป็นแพลตฟอร์มอย่างหนึ่งที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่เขตสามารถเข้ามาดูได้เลย ไม่ต้องรอผู้ว่าฯ ส่งเรื่องไปปลัดฯ รอปลัดฯ ส่งเรื่องไปรองปลัดฯ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลา ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว