'ชัชชาติ' ปักธงสีรุ้ง งาน Pride Month 2022 ร่วมแสดงเจตนารมณ์ส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม-ความหลากหลายทางเพศ ยืนยัน เจ้าหน้าที่ กทม. จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันตามหลักของประชาธิปไตย โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดงาน Pride Month 2022 เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ ของหน่วยงาน กทม. สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI+ ในกรุงเทพฯ ได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ รวมถึงประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน
สำหรับกิจกรรม Pride Month 2022 ในวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปักธงสีรุ้งร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความแตกต่างหลากหลาย พร้อมเปิดนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียม โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พร้อมคณะผู้บริหาร เครือข่ายภาคประชาชนที่สนใจและสนับสนุนด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมปักธงและเฉลิมฉลอง
นายชัชชาติ กล่าวว่า Pride Month คือการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) รวมถึงเป็นการรำลึกถึงคนในคอมมูนิตี้ที่เสียชีวิตด้วยโรค HIV/AIDS สาเหตุที่เลือกฉลองในเดือนมิถุนายน เพราะเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ Stonewalls ในปี 1969 การเฉลิมฉลอง Pride Month ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น อยากชวนให้มอง Pride Month เป็นกิจกรรมที่สะท้อนวาระทางสังคม สังคมที่อยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ความเข้าใจ การยอมรับ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นรากฐานที่จะทำให้ทุกคนมีตัวตน มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางอัตลักษณ์ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียม
" Pride Month ไม่ใช่แค่เพียงความแตกต่างทางเพศเท่านั้น มันรวมถึงความแตกต่างทางความคิด การเมือง ความคิดเห็น เราแตกต่างกันได้แต่อย่าทะเลาะ อย่าเกลียดชัง เข้าใจซึ่งกันและกัน ร่วมมือ แล้วเราจะเดินร่วมกันได้ อย่าลืมว่าสังคมเราไม่ได้มีแค่ 0 กับ 1 (ไบนารี) Pride หมายถึง ความภาคภูมิใจความหลากหลายของสังคมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น กทม. จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันตามหลักของประชาธิปไตย โดยไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. เองจะผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศและสร้างความเท่าเทียม ทั้งในเชิงสัญลักษณ์ สวัสดิการ และการบริการ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน สิ่งที่ กทม. จะทำทันที คือ Pride Month โดยอยู่ใน 1 ใน 12 เทศกาล นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ให้คำปรึกษา ให้การศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านเรื่องพลเมืองโลกโดยเริ่มต้นในโรงเรียนสังกัด กทม. นอกจากการสนับสนุนนโยบายต่างๆ แล้ว กทม. ยังตั้งมั่นที่จะเป็นองค์กรภาครัฐ ที่ขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาชน ภาคธุรกิจ ในการรณรงค์สิทธิของประชาชน เป็นพลังในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวบนพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ นโยบายด้าน LGBTQ+ ใน กทม. หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ สามารถริเริ่มได้โดย
-
กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานใน กทม. ให้การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขในสังคมและสนับสนุนความเท่าเทียม
-
อบรมให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของ กทม. ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ
-
สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้
-
สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย โดยไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้
-
มีกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงาน กทม. และยังนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ซึ่งปัจจุบันคลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือคลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี
ดังนั้น กทม. จะนำร่องเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น บริการจิตวิทยาการปรึกษา การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์
นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายเรื่องความเป็นห่วงด้านสาธารณสุขจากโควิด-19 และโรคฝีดาษลิงจากการร่วมงานเทศกาล Pride Month ว่า กทม.ได้มอบหมายให้สำนักอนามัยประสานงานกับผู้จัดงานเพื่อดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น เคร่งครัด และเหมาะสม ตามมาตราการที่ภาครัฐกำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจและไว้ใจให้ประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดงานเทศกาลต่างๆ อีกด้วย