ครม.รับทราบ 10 หลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม กำหนดกติกาคุ้มครอง สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการ-ประชาชนในโลกออนไลน์ มอบ ‘ดีอีเอส - ป.ย.ป.’ รับฟังความเห็น ทำร่างกฎหมายเสนอที่ประชุมต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ได้พิจารณากฎหมายกฎหมายว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดแนวทางขับเคลื่อน พัฒนาสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีความทันสมัย ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการใช้บริการบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ ซึ่งเราได้พิจารณากันแล้วว่าสมควรมีกฎกติกาที่ชัดเจนคุ้มครองให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายต่างประเทศเห็นว่ามีหลักการสำคัญ 10 ประการ อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม แข่งขันได้อย่างเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค รวมถึงความร่วมมือในการกำกับดูแล กำหนดหน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่มที่ต้องปฏิบัติหรือกำหนดให้มีวิธีการในการรับแจ้งการกระทำความผิดของการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือน หรือผิดกฎหมาย และให้มีการลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ผิดกฎหมาย มีการรับรองผู้แจ้งเบาะแส กำกับดูแลรักษาสัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ และรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม วันนี้ ครม.รับทราบหลักการกฎหมาย ที่จะต้องดำเนินการต่อเพื่อรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับข้อเสนอหลักการกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่เสนอโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ประกอบด้วย 10 หลักการ ดังนี้
1.วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการแพลตฟอร์ม โดยกำหนดผู้ประกอบธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) ผู้ให้บริการตัวกลาง 2) ผู้ให้บริการรับฝากข้อมูล 3) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม 4) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ และ 5) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีอ้านาจควบคุม
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ให้บริการที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนธุรกรรมน้อยกว่า 10,000 รายการต่อวัน เป็นต้น
2.หน้าที่พื้นฐานของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมาย
3.หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม ยกเว้นผู้ให้บริการตัวกลาง กำหนดให้มีวิธีการหรือระบบที่สามารถรับแจ้งการกระทำความผิดหรือการใช้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย
4.หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดหน้าที่และมาตรการป้องกันการเกิดการกระทำผิดและความเสียหายขึ้นบนแพลตฟอร์ม
5.หน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกประเมินความเสี่ยงของระบบและความเสี่ยงอื่น ที่อาจเกิดขึ้นในการใช้บริการแพลตฟอร์ม
6.การรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Accreditation of Trusted Flagger) ให้หน่วยงานกำกับดูแล มีการรับสมัคร ตรวจสอบ และรับรองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด
7. การกำกับดูแลสัญญาระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ใช้บริการ กำกับดูแลเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อตกลง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศกำหนด
8.หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแล กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามหลักการของกฎหมายนี้
9.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลตามร่างกฎหมายนี้ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานแก่หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย
10.การรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ใช้แนวทางการกำกับเชิงการป้องกัน (Ex-ante Approach) โดยการกำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและพฤติกรรมที่ห้ามทำ
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ครม.ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว และมอบหมายให้ ป.ย.ป. หารือร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพของร่างกฎหมายและดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายนี้แล้วนำเสนอ ครม.พิจารณา ก่อนส่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจัดทำร่างกฎหมายต่อไป
หากกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีผลบังคับใช้ จะเป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอันจะทำให้ระบบการให้บริการและการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ