ศาลยุติธรรม เคาะ สิทธิศักดิ์ วนะชกิจจากศาลฎีกา และ สุรพล กล่อมจิตต์จากศาลอุทธรณ์ นั่ง กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) คนใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนการเลือกซ่อมกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) แทนตำแหน่งที่ว่างลงก่อนครบวาระ ได้แก่ ชั้นศาลฎีกา 1 คน และชั้นศาลอุทธรณ์ 1 คน ตามมาตรา 10 (2) (ก) (ข) ประกอบกับมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
โดยคณะอนุกรรมการตรวจนับคะแนนในการเลือก ก.บ.ศ. ได้ตรวจนับบัตรลงคะแนนจากผู้พิพากษาทั่วประเทศที่ส่งกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรม ปรากฏผลผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ก.บ.ศ ดังนี้
ชั้นศาลฎีกา จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา 2322 คะแนน
ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสุรพล กล่อมจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ 1,535 คะแนน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ) เป็นองค์กรบริหารทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคือ เป็นผู้กำหนดโครงสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนการแบ่งส่วนราชการภายในองค์กร วางระเบียบข้อบังคับในการบริหารราชการ ให้ความเห็นชอบแก่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการ
รวมถึงให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณและพัสดุ กำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน และมีอำนาจสั่งยับยั้งการบริหารราชการที่ไม่ถูกต้องได้ ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง ยุบเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล กำหนดจำนวนผู้พิพากษาในแต่ละศาลให้เหมาะสมตามความจำเป็นของทางราชการ
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง และข้าราชการตุลาการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาทั่วประเทศชั้นศาลละ 4 คน กับบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ ด้านพัฒนาองค์กร หรือด้านบริหารจัดการที่ประธาน ก.บ.ศ. และ ก.บ.ศ. ประจำศาลเลือกมาไม่น้อยกว่า 2 คน แต่ไม่เกิน 4 คน คณะกรรมการชุดนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี