'ประยุทธ์'เผยพยายามดูแลงบประมาณภาพรวม เพื่อแก้วิกฤติพลังงาน-ของแพง ย้ำทุกอย่างทยอยดีขึ้น ปัดปี 65 ทุกคนหายจน เพราะโครงการเพิ่มเริ่ม ขอทุกฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหาด้วยความรักสามัคคี ดีกว่ามาด้อยค่าบิดเบือนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2565 เวลา 10.45 น.ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยผลการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ ว่า ไทยกับสหรัฐฯมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน แม้จะมีโควิดแต่มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ประชุมระดับผู้บริหาร และเราพร้อมสานต่อการทำงานร่วมกับสหรัฐฯ บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการทหาร การค้า การลงทุน รวมถึงมิติอื่นๆ รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯมีนโยบายสำคัญและสิ่งที่เรามีท่าทีร่วมกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน เทคโนโลยีสะอาด และการรับมือการแพร่ระบาดโควิด รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้ทำให้เรามีโอกาสได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตนและนายโจ ไบเดน ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรง พบปะหารือกันเกี่ยวกับการร่วมกันขับเคลื่อน ผลักดัน ฟื้นฟู การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของไทยและภูมิภาค เรามาในฐานะอาเซียน นอกจากไทยแล้วทุกประเทศก็ต้องไปด้วยกันทั้งอาเซียน นั่นคือนโยบายการทำงานในการประชุมทุกครั้ง นอกจากนั้นยังพูดถึงการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคของไทย ที่จะเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่จะสามารถทำไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจรับทราบเกี่ยวกับนโยบายของไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจการลงทุนระหว่างกัน
สำหรับพบปะกับภาคเอกชนสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้แจ้งความพร้อมของไทยเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกติกากฎหมายใหม่ พร้อมบอกว่าเราต้องการสร้างห่วงโซ่ที่เข้มแข็งในไทยขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งก็ได้รับทราบแนวทางกันไปแล้ว ขอย้ำว่าไทยพร้อมเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับภาคเอกชน ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งข้อนี้ถือเป็นวาระของไทยต่อเวทีโลก ที่เราได้ประกาศไปแล้วเรื่องของความสัมพันธ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลกร้อน ลดปริมาณคาร์บอน เรื่องสำคัญที่เราพูดมากที่สุดคือด้านการค้าการลงทุน ที่เราต้องปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมใหม่ หลายอย่างต้องทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อทำให้ไทยมีรายได้สูงขึ้น
ขณะที่บทบาทไทยในการประชุมครั้งนี้ เราผลักดันให้สหรัฐฯมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal สร้างความไว้ในเนื้อเชื่อใจ สภาพแวดล้อมที่สงบสุข ตนเน้นว่า อาจจะจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนการมุ่งเน้นเอาชนะด้วยการใช้กำลัง มาให้ความสำคัญกับการพิจารณาเรื่องมนุษยธรรม ว่าด้วยการเยียวยาผู้เดือดร้อนในสถานการณ์ไม่สงบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะสงคราม เราพูดถึงบทบาทไทยในภูมิภาคอาเซียน เรามีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ เอื้ออำนวยการต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียน เราก็ผลักดันข้อริเริ่มการเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2025 ซึ่งไทยทำได้ดี จากตัวชี้วัดต่างๆ ที่แถลงออกมาในทุกมิติ เราก็จะผลักดัน BCG ให้เป็นยุทธศาสตร์การฟื้นตัวที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ส่วนเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาค ไทยสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี มุ่งเน้นการดูแลเรื่องมนุษยธรรม ก็พูดได้แค่นี้ เราก็พยายามอย่างเต็มที่ บริบทการเปลี่ยนแปลงทางรัฐศาสตร์ปัจจุบัน มีทั้งวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้พูดไปทั้งในฝ่ายรัฐบาลและพูดระหว่างการหารือกับสหรัฐฯไปด้วย
“เราต้องมองสถานการณ์ไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง เตรียมความพร้อมอย่างไร ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ถ้าเรามองแต่ปัญหา มองย้อนหลังกลับไปก็เจอแต่ปัญหา เราก็แก้ปัญหาเดิมให้ได้ ต้องเดินไปด้วยในปัจจุบัน และวางอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราเพื่อคนรุ่นใหม่ของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยสิ่งสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องวิกฤตพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เราพยายามแก้ไขทุกอย่าง สำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนอยู่รอดได้ด้วยความพอเพียง ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อย่างประหยัดหน่อย รัฐบาลก็พยายามทุ่มเทสรรพกำลังลงไปเต็มที่แล้ว จากนั้นถ้าเราทำโครงสร้างสำเร็จก็จะเกิดความยั่งยืน เช่น ขณะนี้เรามีโครงการแก้ปัญหาความยากจนเราก็เดินหน้าต่อไป ทุกอย่างจะทยอยดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นนโยบายที่เราเริ่มทำปี 2565 ไม่ใช่ว่าทุกคนจะหายจนกันหมดในปี 2565 คงไม่ใช่ หลายอย่างใช้เวลานานพอสมควร ตนเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร ถ้าเราพาไปสู่การเป็น smart farmer หากทำได้ เกษตรกรก็ไม่มีจน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยร่วมกับภาคเอกชน
ด้านการค้าการลงทุน ค่าเงินบาทวันนี้ เดิมเราตั้งใจไว้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากโควิดเบาลง แต่เกิดภาวะสงครามขึ้นมาอีก ตัวเลขอาจจะลดลงไปบ้าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าต้นปีเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% แต่เมื่อ เม.ย. 2565 ได้ปรับตัวเลขประมาณการลดลงเหลือ 3.6% ไทยก็เช่นกันปรับลดลงเหลือ 3% อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หลายประเทศมีปัญหาหมด เราก็พยายามแก้ตรงนี้ เรื่องพลังงานอีก อยากจะกราบเรียนว่า พยายามจะดูให้ดีที่สุด อะไรที่ดูแลได้ก็จะดูแล แต่ถ้าดูแลมากเกินไป อย่างอื่นจะไปกันหมด เพราะลากกันไปหมด เนื่องจากงบประมาณเกี่ยวพันกันทั้งหมด ต้องเข้าใจตรงนี้ นายกรัฐมนตรีก็พยายามดูแลงบประมาณในภาพรวมทั้งหมดอยู่
“สิ่งสำคัญคือพวกเราต้องมองไปข้างหน้า และร่วมมือกันแก้ปัญหา มากกว่าที่จะมาด้อยค่ากัน มาบิดเบือนกันและกันไม่เกิดประโยชน์อะไรกัน โลกกำลังมีปัญหา ไทยกำลังมีปัญหา ประชาชนกำลังลำบาก เราจะไปทะเลาะกันทำไม ต้องหาทางให้สงบเรียบร้อยที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ไทยเดินหน้าได้ คือความรักความสามัคคี ผมขอแค่นี้ล่ะ เรื่องอื่นที่ยังไม่สำคัญ ก็อย่าเพิ่งเลย อย่าเพิ่งไปให้ความสำคัญมันมากนักเลยแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว