‘ธปท.’ เผยผลสำรวจ ‘BSI COVID’ เดือน เม.ย. พบความขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ทำให้ธุรกิจ ‘ครึ่งหนึ่ง’ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการ ‘ส่วนใหญ่’ จะยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า เน้นทำโปรโมชั่น-ลดต้นทุน
.............................
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 1-26 เม.ย.2565 พบว่า ในเดือน เม.ย.2565 ระดับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยภาคการค้าและการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ภาคการผลิตอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างยังถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
ส่วนจำนวนแรงงานโดยรวมทรงตัว ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนในภาคการค้าและการท่องเที่ยว ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ธุรกิจครึ่งหนึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการผลิตคาดว่าจะแบกรับต้นทุนได้อีกราว 3-6 เดือน ขณะที่ธุรกิจบริการส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์อื่นแทนการปรับขึ้นราคา อาทิ ลดโปรโมชั่น ลดต้นทุน
“สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ธุรกิจครึ่งหนึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ร้อยละ 41 ของกลุ่มที่ต้นทุนที่สูงขึ้น ประเมินว่าหากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ของต้นทุนปัจจุบัน ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะธุรกิจการค้า ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจสามารถปรับราคาได้ไม่มากนัก
สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการผลิต คาดว่าจะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกราว 3-6 เดือน เช่น การผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก ขณะที่ธุรกิจบริการส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวโน้มปรับราคาขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่จะใช้กลยุทธ์อื่นแทน เช่น ลดต้นทุน ลดโปรโมชั่น เป็นต้น” ผลสำรวจฯระบุ
ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่บางธุรกิจ อาทิ การผลิตเหล็ก การผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติก มีสภาพคล่องน้อยกว่า 3 เดือนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จากราคาวัตถุติบที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการสะสมวัตถุดิบคงคลังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจสะสมสต็อกวัตถุติบเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เตือน อาทิ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าการผลิตอาหารและเครื่องตี่ม คาดว่าเป็นผลจากราคาและสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ผลสำรวจฯยังพบว่า สำหรับอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 นั้น อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ระบุว่ามาจาก 3 เรื่อง ได้แก่ เที่ยวบิน/การเดินเรือยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ,กำลังซื้ออ่อนแอ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิต (Non-Manufacturing) ระบุว่ามาจาก 3 เรื่อง ได้แก่ กำลังซื้ออ่อนแอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังเผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือน เม.ย.2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งภาวะปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำและค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังคงกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก
“ความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคใต้ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และภาวะหนี้ครัวเรือนสูง” ผลสำรวจฯ RSI ประจำเดือน เม.ย.2565 ระบุ
นอกจากนี้ จากการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อภาคการค้า พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ปรับดีขึ้นยังจำกัดอยู่เฉพาะในหมวดสินค้าจำเป็น และสินค้าที่มีโปรโมชั่น จากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสินค้าขั้นพื้นฐานหลายหมวดปรับแพงขึ้น
“ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ธุรกิจ 70% มีต้นทุนสูงขึ้น และธุรกิจ 57% มีสต็อกเพียงพอแค่ 3 เดือน ขณะที่ธุรกิจจะเริ่มปรับราคาสินค้าเมื่อต้นทุนปรับสูงขึ้น” ผลสำรวจฯระบุ