ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมมือกรมสรรพากร เปิดยุทธการณ์ทลายแก๊งโกงภาษี รวบผู้ต้องหา 7 ราย กรอกข้อมูลเท็จผ่านอินเทอร์เน็ตหลอกสรรพากรขอคืนเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ.พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. และ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท.ร่วมแถลงผลยุทธการ “สอบสวนกลาง ร่วมมือกรมสรรพากร ปราบแก๊งโกงภาษี” จับกุมผู้ต้องหาได้ 7 ราย ประกอบด้วย น.ส.กัติกา หงส์ยนต์ อายุ 24 ปี, น.ส.รุ่งฤดี ประจิตร อายุ 25 ปี, น.ส.วรรณวิสา โสภาพ อายุ 24 ปี , น.ส.ลีลาวดี สมรัตน์ อายุ 21 ปี, นายอริน พิรักษา อายุ 21 ปี และ น.ส.อัมรินทร์ อินทร์สุข อายุ 25 ปี พร้อมของกลาง สมุดบัญชีธนาคาร, โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อีกหลายรายการ
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับการประสานจาก กรมสรรพากร ให้สืบสวนจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตปีภาษี 2564 โดยใช้ระบบ Data Analytics ของกรมสรรรพากร โดยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จแอบอ้างว่ามีรายได้จากการทำงานและได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
เนื่องจากการก่อเหตุลักษณะดังกล่าว มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทำให้ทราบเครือข่ายผู้ที่ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ จนนำไปสู่การขออนุมัติออกหมายจับ จากนั้นได้นำกำลังกว่า 30 นายเข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายใน กทม., กำแพงเพชร, ตาก, ชลบุรี และปทุมธานี กระทั่งจับกุมผู้ต้องหาได้ดังกล่าว ส่วนมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการประเมินของกรมสรรรพากร
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงแจ้งข้อหา“นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, ฉ้อโกง, ขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ” จึงนำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. ดำเนินคดี ในส่วนของผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการสืบสวนติดตามตัวต่อไป
สำหรับพฤติกรรมในการกระทำความผิดนั้น ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน จะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย หาลูกค้าผ่านทางสังคมออนไลน์โดยอ้างว่าสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาได้ แม้ว่าจะไม่มีสิทธินั้นก็ตาม เมื่อมีผู้สนใจติดต่อมาก็จะชักชวนให้ร่วมกระทำความผิด ด้วยการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่จะขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการผ่อนชำระบ้านพักอาศัย หรือประกันชีวิต เป็นต้น โดยการยื่นผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน ตามสัดส่วนที่ได้รับเงินคืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อระบบคัดกรองของกรมสรรพากรตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ระบบจะโอนเงินคืนภาษีดังกล่าวผ่านทางบัญชีพร้อมเพย์ให้กับเจ้าตัวผู้ขอคืนภาษี ก่อนที่เจ้าตัวจะนำเงินมาแบ่งกับแม่ข่ายต่อไป
ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มผู้ที่ยื่นขอคืนภาษีเป็นเท็จจริงรวมแล้วกี่คนและมูลค่ารวมมีความเสียหายเท่าไหร่ ขณะนี้กำลังตรวจสอบรายละเอียด เบื้องต้นพบเพียงว่า แต่ละรายที่ร่วมกันกระทำความผิดนั้นจะได้รับเงินภาษีคืนรายละประมาณ 4,000-5,000 บาท ส่วนผู้ที่เป็นลูกข่ายจะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยหรือไม่ ขณะนี้กำลังอยุ่ในขั้นตอนการสอบสวน หากพบว่ากระทำความผิดด้วย ก็จะเรียกตัวมาดำเนินคดีต่อไป