ครม.อนุมัติงบกลางรวม 9.26 พันล้านบาท เป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้าสาธารณสุข-ท้องถิ่น และจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด พร้อมเคาะอีก 331 ล้านบาท จัดทำ OQ สำหรับแรงงานต่างด้าว-ผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 จำนวน 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(สมาชิกอส.) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกรมการปกครองจำนวน 270,590 คน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กรมการปกครองเคยได้รับการอนุมัติงบกลาง ปี 2563 จำนวน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 500 บาทต่อเดือน และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราคนละ 300 บาทต่อเดือน โดยไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสมาชิกอส. ซึ่งต่างจากการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ โดยปรับเป็นคนละ 500 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกตำแหน่ง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและให้เกิดความเสมอภาคระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ซึ่งอัตราดังกล่าวเทียบเท่ากับ อสม.
ส่วนการจัดสรรงบประมาณให้แก่สมาชิก อส. ด้วยนั้น เนื่องจากสมาชิก อส.มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกองกำลังประจำถิ่นที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประจำการ ทำให้มีความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด-19
เคาะ 8,458.38 ล้านบาท จ่ายค่าเสี่ยงภัย-จัดซื้อยาแพกซ์โลวิด
น.ส.ไตรศุลี เผยว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 8,458.38 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งจะโดยจัดสรรแก่ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 7,777.09 ล้านบาท กรมการแพทย์ 626.53 ล้านบาทกรมสุขภาพจิต 27.84 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 13.53 ล้านบาท และกรมอนามัย 13.37 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ (สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 นอกสถานพยาบาล ค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิการรักษา และจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขโดยการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยและการปฏิบัติงานนอกเหนือภารกิจปกติโดยต่อเนื่อง รวมถึงมีนโยบายการจัดหายาเวชภัณฑ์ที่ประสิทธิภาพในปริมาณที่เพียงพอมาเพื่อรักษาประชาชน
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีการใช้ยารักษาโควิดอยู่หลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์, เรมดิซิเวียร์ และล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดหายาแพกซ์โลวิด ซึ่งผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้วจะมีการลงนามสัญญาเพื่อจัดซื้อตามขั้นตอนต่อไป
อนุมัติงบ 331 ล้านบาท สร้าง OQ แรงงานต่างด้าว-หลบหนีเข้าเมือง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 331.59 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าว และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กันยายน 2565 โดยงบประมาณวงเงิน 331.59 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วยตชด.จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 142.11 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารเต็นท์สนาม ขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 189.48 ล้านบาท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดทำโครงการ OQ โดยใช้พื้นที่ของตำรวจตระเวนชายแดน เป็นสถานที่ควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2564 มีคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการกักตัวแล้วจำนวน 2,999 คน ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565
สำหรับอัตราการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่มีดังนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน อัตราผลัดละ 420 บาท ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ล่ามแปลภาษา อัตราวันละ 420 บาท ส่วนอัตราเบิกจ่ายค่าอาหารและน้ำดื่มสำหรับแรงงานต่างด้าวในอัตรามื้อละ 50 บาท จำนวน 3 มื้อ/คน/วัน และค่าตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 คนละ 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละ 1,500 บาท/คน