ครม.สั่งทุกส่วนราชการ ตั้งเป้า 6 เดือน ลดการใช้พลังงาน 20% มาตรการทำได้ทันที เช่น ปรับแอร์ รณรงค์การใช้บันได ใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพเดินทาง คาดการใช้ไฟ-น้ำมัน คิดมูลค่าหลายพันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยอนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการลดการใช้พลังงาน 20% ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.2565 โดยให้จัดตั้งคณะทำงานลดใช้พลังงานโดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการลดการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและพัฒนามาตรการลดใช้พลังงานให้เข้มข้นขึ้นหรือยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
ขณะที่มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที มีดังนี้ ด้านไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ให้กำหนดเวลาเปิด-ปิด 8.30 - 16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25 -26 องศาเซลเซียส ล้างแอร์ทุก 6 เดือน , ใช้หลอดไฟ LED , อุปกรณ์สำนักงานให้ตั้งโปรแกรมปิดหน้าจออัตโนมัติ , ลิฟต์อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่หรือคี่ และรณรงค์การใช้บันได
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวนผู้เดินทางใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล เป็นอันดับแรก , ตรวจเช็ครถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนด เติมลงยาง ให้เหมาะสมและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์การจัดส่งเอกสารทางอีเมล
นายธนกร กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการระยะยาวให้ อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม ก่อนปีงบประมาณ 2565 ที่มีอยู่ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานภายในปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่การจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม นอกจากนี้ยังให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมาใช้กับหน่วยงานราชการ รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ
ทั้งนี้ให้ หน่วยงานภาครัฐต้องรายงานผลการประหยัดพลังงาน เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
“มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67,075 ตัน ในส่วนของการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท และการดำเนินงานตามมาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท” นายธนกร กล่าว