ครม.อนุมัติ 150.69 ล้านบาท ซื้อหน้ากากอนามัย-ชุดตรวจ ATK อุปกรณ์อื่นๆ รวม 19 รายการ เพื่อแก้ปัญหาโควิดในเรือนจำทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังอนุมัติกรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท จัดแผนบริการสุขภาพปฐมภูมิ 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคโควิดในเรือนจำและทัณฑสถานวงเงินรวม 150.69 ล้านบาท เพื่อให้กรมราชทัณฑ์นำไปจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหา จำนวน 19 รายการให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ
สำหรับวัสดุและอุปกรณ์ 19 รายการ อาทิ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 162,000 ตัว หน้ากากอนามัย N95 162,000 ชิ้น ถุงมือยาง 540,000 คู่ ชุดตรวจ ATK จำนวน 454,674 ชุด นอกจากนี้ ยังมี แอลกอฮอล์น้ำ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว น้ำยาตรวจหาเชื้อไวรัส (น้ำยา PCR ) เป็นต้น เพื่อแจกจ่ายให้กับเรือนจำและทัณฑสถานที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อนุมัติ 6.7 หมื่นล้านจัดแผนบริการสุขภาพปฐมภูมิ 10 ปี
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิปี 2564-2575 กรอบวงเงินงบประมาณ 67,956 ล้านบาท โดยจะตั้งรายการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน ซึ่งแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมินี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบทิศทาง เป้าหมาย และกลไกการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชนประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มศักยภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิทุกรูปแบบที่ขับเคลื่อนโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน โครงการจัดทำคู่มือเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โครงการสรรหานักเรียนในพื้นที่เข้าสู่โครงการแพทย์คืนถิ่น โครงการสร้างสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและเป็น happy work place
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบสารสนเทศ การวิจัย และนวัตกรรมระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากลไกและกระบวนการสร้างหลักธรรมาภิบาลในการอภิบาลระบบปฐมภูมิ เช่น โครงการบูรณาการงานสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมโยงการทำงานกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โครงการบริหารจัดการการเงินการคลังในระบบสุขภาพปฐมภูมิ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายและชุมชน เช่น โครงการขับเคลื่อนโดยทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ( พชอ.) เน้นจัดสภาพพื้นที่ จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพให้ประชาชน โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดบริการด้านสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ มีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีความเชื่อมั่นศรัทธา และมุ่งสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย