กสม. ชี้ สพฐ. แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษา ไม่ให้ครอบครัวร่วมเป็นกรรมการและมีส่วนร่วมประเมินผลการเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน- เร่งประสานการคุ้มครองสิทธิฯ ชาวบ้านปิล๊อกคี่ หลังอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีคำสั่งขับไล่ครอบครัวแบบเหมารวมจากเหตุยิงเสือโคร่ง
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 4/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม. ชี้ สพฐ. แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ให้ครอบครัวเข้ามาเป็นกรรมการและมีส่วนร่วมประเมินผลการเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนเมษายน 2564 กล่าวอ้างว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษารวม 7 แห่ง ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ประจำปีการศึกษา 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก สพฐ. ได้มีหนังสือที่ ศธ 04006/ว2894 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยแก้ไขในส่วนของคณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ให้มีเพียงผู้แทนหน่วยงานของรัฐ อันประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ข้าราชการครู แต่เพียงฝ่ายเดียว จากเดิมที่กำหนดให้คณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว โดยผู้ร้องเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวนั้น ฝ่ายครอบครัวไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่งผลให้ผู้เรียนและครอบครัวถูกวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างขาดความเข้าใจ และไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 บัญญัติให้
รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดว่านอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัวองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา
สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ขณะที่กฎกระทรวง
ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ครอบครัวดำเนินการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย
กสม. เห็นว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบและเป็นการศึกษาทางเลือกที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะเฉพาะของตัวผู้เรียนแต่ละคน ที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย ซึ่งครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา เป็นครูผู้สอนด้วยตนเองหรือเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจและทราบถึงพัฒนาการของผู้เรียนได้ดีที่สุด ครอบครัวจึงควรมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา การที่ สพฐ. ไม่ให้ครอบครัวเข้าไปร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลฯ แต่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องทำการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น จะส่งผลให้คณะกรรมการขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลที่รอบด้านในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา
โดยครอบครัวอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กผู้เรียนตามมา จึงเห็นว่าการกระทำของ สพฐ. เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในการนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้แก่ครอบครัวและผู้เรียน กสม. จึงเห็นควร
มีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. กำหนดให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้มีการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเข้าใจต่อผู้เรียน รวมถึงเป็นไปตามพัฒนาการและศักยภาพของผู้เรียน
สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
รวม 7 แห่ง กสม.เห็นว่า ไม่ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เนื่องจากได้ดำเนินการตามคู่มือการจัดการศึกษา และได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมกับการวัดและประเมินผลตามสมควรแล้ว
2. กสม. เร่งประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แบบเหมารวม หลังสมาชิกในครอบครัวถูกดำเนินคดีข้อหาล่าเสือโคร่ง
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหมู่บ้าน
ปิล๊อกคี่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 5 ราย แจ้งว่าถูกดำเนินคดีในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครองเสือโคร่งที่ใกล้สูญพันธุ์ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันฝูงปศุสัตว์ที่ถูกเสือเข้ามากัดกิน และเพื่อป้องกันอันตรายจากเสือที่จะเข้ากัดกินโคกระบือและเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน จึงได้ยิงเสือและนำเนื้อมาประกอบอาหารเพื่อมิให้การตายของเสือดังกล่าวต้องเสียเปล่าไป โดยผู้ร้องทั้ง 5 รายได้ติดต่อมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนทั้งหมด 4 หลัง และให้ครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ร้องออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า ครอบครัวและญาติพี่น้องของพวกตนมิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยแต่อย่างใด จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงร้องเรียนมายัง กสม.
ในเบื้องต้น กสม. โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประสานทางโทรศัพท์ไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและได้ขอให้มีการพิจารณาแยกออกจากกันระหว่างกรณีการกระทำความผิดในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครองกับกรณีการมีคำสั่งให้ญาติของผู้กระทำความผิดออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม รวมทั้งการให้รื้อถอนบ้านหรือโรงเรือน โดยมิควรพิจารณาในลักษณะ
การเหมารวม นอกจากนี้ยังได้หารือถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งเรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการหารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกับผู้นำท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในหมู่บ้านปิล๊อกคี่
กสม. เห็นว่า สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ตามมาตรา 37 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการมีคำสั่งให้ญาติหรือบริวารของผู้ร้องออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมและการมีคำสั่งให้รื้อถอนบ้านและโรงเรือน รวมไปถึงกรณีที่จะต้องมีการจัดการเรื่องพื้นที่การเลี้ยงโคกระบือของชาวบ้านนั้น เป็นเรื่องที่สมควรประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีมติให้แจ้งประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามแนวทางที่ได้หารือกันในเบื้องต้นไว้ และขอทราบผลการดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน กสม. อยู่ระหว่างการแจ้งเป็นหนังสือไปยังหน่วยงานดังกล่าว