ศาลยุติธรรมแถลงผลงานปี 2564 ใช้ระบบออนไลน์ SMART COURT ปิดฉากกว่า 1.19 ล้านคดี แม้เผชิญกับวิกฤติโควิด ปี 2565 ต่อยอดดูแลผู้บริโภควิถีใหม่ ตั้งแผนกซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ฟ้องผ่านระบบ e-Filing ได้ พร้อมให้ศูนย์ TBMC ไกล่เกลี่ยคดีหนี้การเงิน/ครัวเรือน ย้ำความยุติธรรมเข้าถึงง่าย พร้อมเป็นที่พึ่งประชาชนทุกทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2564 ว่าในรอบปีที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน รวมทั้งศาลยุติธรรมเองต่างต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกันคดีความต่างๆ ที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรม เป็นเรื่องที่คู่ความและประชาชนต่าง ๆ มีความเดือดร้อน และต้องการให้ศาลเป็นที่พึ่ง การบริหารจัดการคดีที่ไม่ทันท่วงที ย่อมทำให้ความเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนเนิ่นนานออกไปด้วย
ด้วยเหตุนี้แม้จะประสบปัญหาวิกฤติโรคโควิด แต่ศาลยุติธรรมยังมุ่งมั่นที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกท้องที่ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างที่สุด ศาลยุติธรรมจึงนำเทคโนโลยีและพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีอยู่ของ SMART COURT มาอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเต็มที่ในทุกช่องทางที่กฎหมายสามารถดำเนินการได้โดยไม่ทำให้คดีต่างๆ ต้องสะดุดหยุดลงหรือกระทบต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมของคู่ความ และคุ้มครองสิทธิทางคดีของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยด้วย โดยยังสามารถคุ้มครองสุขอนามัยของคู่ความและประชาชนที่ต้องติดต่อราชการของศาลไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นด้วย
ในรอบปีที่ผ่านมาสถิติการพิจารณาพิพากษาคดีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค. 2564 ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบกับการบริหารจัดการคดีที่จะมีการนัดพิจารณาคดีตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์โควิด พบว่า ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จทั้งสิ้น 1,194,804 คดี จากปริมาณคดีค้างเก่าและคดีรับฟ้องใหม่รวม 1,560,026 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 1,030,906 คดี และคดีอาญา 529,120 คดี โดยขณะนี้ปริมาณคดีค้างพิจารณาคงเหลือจำนวน 365,222 คดี คิดเป็น 23.41%
ส่วนข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่
-
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 292,835 ข้อหา
-
บัตรเครดิต 155,801 ข้อหา
-
สินเชื่อบุคคล 133,954 ข้อหา
-
พ.ร.บ. จราจรทางบก 103,407 ข้อหา
-
กู้ยืม 101,551 ข้อหา
-
ขอจัดการมรดก 90,440 ข้อหา
-
เช่าซื้อ (รถยนต์) 62,986 ข้อหา
-
ค้ำประกัน 49,386 ข้อหา
-
พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 35,747 ข้อหา
-
ละเมิด 33,021 ข้อหา
นายจีระพัฒน์ กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมาในด้านการพิจารณาพิพากษาคดีจึงนำ 'วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์' มาใช้เป็นหลักทั้งในคดีแพ่งและอาญา โดยคำนึงถึงความพร้อมของคู่ความทั้งสองฝ่ายตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดหลักการรองรับให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเอกสารในสำนวนความ การยื่น การส่ง หรือรับเอกสาร การนั่งพิจารณา การบันทึกคำเบิกความพยาน การรับฟังพยานหลักฐาน การทำคำพิพากษา อุทธรณ์และฎีกา สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือกระทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม ไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของคู่ความลดน้อยลง ซึ่งตลอดปี 2564 ศาลอนุญาตให้ใช้การพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสิ้น 330,631 ครั้ง จากการขอใช้ทั้งหมด 364,290 ครั้ง
การส่งเสริมให้มีการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นในศาลชั้นต้น นอกจากช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ยังลดการเดินทางมาศาลที่ไม่จำเป็นของคู่ความด้วย ด้วยเหตุที่วิธีพิจารณาดังกล่าวทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ในปีนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ครบทุกบัลลังก์ เพื่อรองรับการพิจารณาคดีวิถีใหม่ New Normal ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เพื่อเพิ่มช่องทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาทางออนไลน์ให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกระบวนพิจารณาไปสู่วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกศาลยุติธรรมต้องมีความพร้อมด้วย สำนักงานศาลยุติธรรมจึงวางโครงการที่จะจัดอบรมหลักสูตรการพิจารณาคดีออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์
รวมถึงทนายความ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในการบริหารจัดการคดีที่คั่งค้างอันเนื่องจากมีการเลื่อนนัดพิจารณาในช่วงโควิดระบาดหนักนั้น ยังได้ดำเนิน 'โครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ' เพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีหรือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เพื่อให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับการอำนวย ความยุติธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และกระจายความแออัดของคู่ความที่มาศาล
อันจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณนี้ มีศาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 145 ศาล โดยสำนักงานศาลยุติธรรมอนุมัติกรอบปริมาณคดีเพื่อให้ศาลดำเนินการตามโครงการ จำนวน 90,560 คดี
นายจีระพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาใน 135 ศาล ประสบความสำเร็จสามารถเร่งรัดจัดการคดีที่คั่งค้างได้เสร็จตามโครงการฯ จำนวน 86,498 คดี ซึ่งพบว่าความพึงพอใจในการรับบริการของประชาชนและคู่ความตามโครงการดังกล่าวคิดเป็นคะแนน 4.72 จากคะแนนเต็ม 5
กระบวนการไกล่เกลี่ยยังเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยทำให้คดีความเสร็จไปด้วยความรวดเร็วและด้วยความพึงพอใจของคู่ความทุกฝ่าย ขณะที่คู่ความที่ประสงค์นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ศาลส่งเสริมให้ใช้ระบบ 'การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์' ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งก่อนฟ้องและหลังฟ้อง เพื่อลดการเดินทางที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค
โดยสถิติปี 2564 มีคดีที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ทั้งหมด 58,507 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 51,910 คดี คิดเป็น 88.72% ทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 23,974,982,283.41 บาท
นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังมี 'ระบบ CIOS (ซีออส)' หรือระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม ที่ได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่องและยังเป็นช่องทางหลัก ที่เน้นให้คู่ความใช้บริการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งสถิติการใช้งานเพิ่มขึ้น เช่น มีการใช้บริการขอยื่นคำร้อง 308,557 คดี ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดี 310,506 ครั้ง ขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด 27,226 คดี เป็นต้น และในปีที่ผ่านมายังได้ขยายการให้บริการเพิ่มเติม เช่น การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการขอปล่อยชั่วคราวได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผู้ยื่นขอประกันตัวผ่านออนไลน์แล้วจำนวน 1,306 คำร้อง รวมถึงบริการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอตั้งต้นคดีในคดีครอบครัวที่มีผู้ยื่นฟ้อง
เข้ามาแล้วจำนวน 1,599 คดี
และระบบ e-Filing (อีไฟลลิ่ง) ที่ให้บริการออนไลน์เช่นกันสำหรับการยื่น-ส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสถิติในปี 2564 มีการใช้บริการยื่นฟ้องออนไลน์ทั้งสิ้น 492,838 คดีเพิ่มขึ้นจากปี 2563 คิดเป็น 64.31% (ปี 2563 มีการยื่นฟ้อง 299,939 คดี) หากเปรียบเทียบกับการยื่นฟ้องแบบปกติโดยตรงต่อศาลเป็นกระดาษ พบว่าการยื่นฟ้องผ่านระบบออนไลน์มีสัดส่วนมากกว่าประมาณ 1.5 เท่า
ในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ยังไม่สิ้นสุด ศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในสุขอนามัย จึงวางมาตรการคุมเข้มในการป้องกันต่อความเสี่ยงการแพร่ระบาด ทั้งการจัดหาและติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในห้องพิจารณาคดี การเน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่าง และการคัดกรองผู้มีความเสี่ยง โดยกรณีที่คู่ความอาจมีความจำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อราชการศาล เราได้พัฒนาระบบคัดกรองแบบออนไลน์ผ่าน "COJPASS" ซึ่งสามารถแปรผลได้ทันที หากพบว่าคู่ความมีความเสี่ยงสูงและมีความจำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาก็อาจใช้มาตรการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK มาตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น มาตรการเหล่านี้และ COJPASS นี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขอนามัยภายในศาลและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่ต้องเดินทางมาศาล
อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมยังตระหนักถึงความสำคัญการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมเช่นเดียวกันเพื่อสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิตามนโยบายของประธานศาลฎีกาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการจัดตั้ง 'ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย' เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและความประสงค์ในการใช้สิทธิทางศาลของผู้เสียหายที่สามารถแจ้งสิทธิได้โดยสะดวกตั้งแต่แจ้งความดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้มีคดีมาถึงศาลก่อน หลังจากที่ศาลยุติธรรมได้จัดตั้งศูนย์ ฯ เมื่อเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ตามสถิติมีผู้เสียหายยื่นความประสงค์เข้ามาจำนวน 4,465 เรื่อง โดยต้องการให้ช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในเรื่องคุ้มครองความปลอดภัย 1,776 เรื่อง, ห้ามผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยคุกคามหรือเข้าใกล้ 695 เรื่อง, ขอจัดการทนายความ 519 เรื่อง, ค่ารักษาพยาบาล 626 เรื่อง รวมทั้งประสงค์ยื่นคำร้องขอให้ชดเชยค่าสินไหมทดแทน 2,483 เรื่อง และขอคัดค้านการประกันตัว 1,066 เรื่อง เป็นต้น
ส่วนการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ในการขอปล่อยชั่วคราว ศาลยุติธรรมก็ได้พิจารณาอย่างเต็มที่ภายใต้การใช้ดุลยพินิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และตามแนวทางลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นของประธานศาลฎีกา ในรอบปี 2564 มีคำร้องที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจำนวน 245,901 คำร้อง ซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นแบบคำร้องทั่วไปและแบบคำร้องใบเดียว โดยจากคำร้องทั้งหมดศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำนวน 219,784 คำร้อง คิดเป็น 89.38%
โดยลักษณะของการอนุญาตปล่อยชั่วคราวนั้นมีทั้งแบบมีสัญญาประกัน ไม่มีสัญญาประกัน ประเมินความเสี่ยง การตั้งผู้กำกับดูแล การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กําไล EM) และแบบมีการกำหนดหลักประกันวางหลักทรัพย์ ในส่วนการยื่นขอปล่อยชั่วคราวและอุทธรณ์คำสั่งการปล่อยชั่วคราว
ต่อศาลสูงนั้น ศาลก็ได้นำมาตรการตั้งผู้กำกับดูแล การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กําไล EM) และการกำหนดหลักประกัน มาใช้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในส่วนของคดีที่อาจจะมีการกำหนดโทษปรับไว้ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับก็จะต้องถูกดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายในการกักขังแทนค่าปรับนั้น ศาลยุติธรรมก็มีโครงการบริการสังคมแทนค่าปรับด้วย ซึ่งนับตั้งแต่ที่ได้ดำเนินการมาเดือน พ.ย.63 - พ.ย.64 สถิติสรุปรายงานผลการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับทั้งสิ้น 23,754 คดี โดยประเภทงานที่มีผู้แจ้งขอทำมากที่สุด ได้แก่ งานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ งานวิชาชีพงานช่างฝีมือหรืองานที่ต้องใช้ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ งานช่วยเหลือดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาลและงานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา และงานอื่น ๆ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะกำหนดจำนวนชั่วโมงการทำงานให้ลดน้อยลง ตามลำดับ
แนวทางต่าง ๆ ที่ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการมาตลอดช่วง ปี 2564 ศาลได้ยึดมั่นอยู่บนหลักการอำนวยความยุติธรรมรูปแบบ “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย" (EASY ACCESS TO JUSTICE) ตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา ที่จะส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม การสร้างหลักประกันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย สร้างสรรค์ระบบงานให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าและสุขภาวะที่ดีของบุคลากร
ทั้งนี้ นายจีระพัฒน์ ได้กล่าวถึงแผนดำเนินงานอำนวยความยุติธรรมผ่านการวางระบบบริหารจัดการคดีในปี 2565 ว่า ภายใต้นโยบายของ น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา คนที่ 47 ศาลยุติธรรมมุ่งยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่ โดยมีแผนจัดตั้ง 'แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง' เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing ขณะนี่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและประสานงานกับองค์กรภาคีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินคดีอันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับแผนงานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านดิจิทัลของศาลในอนาคต สำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัยมากขึ้น โดยจะนำระบบการพิสูจน์และยันยันตัวตน รวมถึงการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์มาสนับสนุนทำให้เกิดความมั่นใจในระบบเทคโนโลยีของศาลยุติธรรมยิ่งขึ้น โดยจะมีการนำระบบ COJ Connect ที่เชื่อมต่อแพลตฟอร์มการให้บริการต่าง ๆ เข้าด้วยกันซึ่งจะทำให้ประชาชนและคู่ความเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
สำนักงานศาลยุติธรรมยังมีความร่วมมือกับฝ่ายบริหารและหน่วยงานอื่นในการร่วมแก้ไขภาระหนี้สินภาคประชาชน โดยสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ผ่านระบบของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม หรือ TBMC ซึ่งในอนาคตน่าจะทยอยนำปัญหาหนี้สินด้านต่าง ๆ เข้ามามากขึ้นเพื่อเป็นการร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมอีกทางหนึ่ง
“ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่าง ๆ ต้องปรับรูปแบบการดำเนินการวิถีใหม่หรือ New Normal ไปด้วยกันนั้นอย่างเหมาะสม ศาลยุติธรรมก็จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่นกัน โดยจะพยายามนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ให้มากขึ้น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมเหมือนดั่งเช่นที่เคยเชื่อมั่นตลอดมาที่จะคงอำนวยความยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง เสมอภาค เป็นธรรม รวมถึงความเข้มงวดสร้างความปลอดภัยเมื่อเดินทางมาติดต่อราชการศาล ศาลเราพร้อมเป็นที่พึ่งประชาชนอย่างแท้จริงทุกด้าน และเป็นความยุติธรรมที่ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายสอดรับกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของประชาชน” นายจีระพัฒน์ กล่าว