‘ศาลปกครองระยอง’ มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ‘นายกเมืองพัทยา’ ที่มีคำสั่งให้รื้อถอน ‘อาคาร A-ป้ายโครงเหล็ก’ บ้านสุขาวดี แต่ ‘ยกคำขอ’ กรณีทุเลาบังคับกรณีรื้อถอน ‘อาคาร C’
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองระยองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 187/2564 ระหว่าง บริษัท เฮลธ์ ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กับ เมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลเมืองพัทยาฯ ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (บริษัท เฮลธ์ ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด) ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร (บ้านสุขาวดี) ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่นายกเมืองพัทยามีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จำนวน 8 ฉบับ ให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคาร และให้รื้อถอนอาคารบ้านสุขาวดีของผู้ฟ้องคดี จำนวน 3 อาคาร (อาคาร A, B และ C) รวมทั้งป้ายโครงเหล็ก ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทั้ง 8 ฉบับ
ต่อมา เจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดการรื้อถอนและเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็ก และอาคาร C ภายใน 15 วัน ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคารเหล่านั้น และศาลได้ออกตรวจสถานที่พิพาทและทำการไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564
โดยที่ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทได้ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และการทุเลาการบังคับนั้น จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ
ศาลปกครองระยองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนของคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร A ซึ่งเป็นเวทีการแสดง และป้ายโครงเหล็กนั้น นายกเมืองพัทยาอ้างเหตุผลในคำสั่งว่า อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนที่สาธารณะซึ่งไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยตามแบบรังวัด ร.ว. 9 บันทึกว่าเป็น “ทะเล” แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ.2561 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน (ที่งอกชายทะเล) บริเวณพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคาร A และป้ายโครงเหล็กนั้น
ดังนั้น ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารด้วยเหตุผลว่า ก่อสร้างบนที่สาธารณะ นายกเมืองพัทยาจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงซึ่งได้ขอออกโฉนดที่ดินไว้แล้วนั้นหรือไม่ หากที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่งอก ไม่ใช่ที่สาธารณะ นายกเมืองพัทยาย่อมไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโดยอาศัยเหตุที่ว่าเป็นการก่อสร้างบนที่สาธารณะได้
การที่นายกเมืองพัทยายังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงมีผลให้คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็กน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง อาคาร A และป้ายโครงเหล็กดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท หากเจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาทำการรื้อถอนตามคำสั่งไปแล้ว และต่อมาศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยา
และแม้นายกเมืองพัทยาจะอ้างว่า หากมีการรื้อถอนอาคารทั้งหมดแล้ว เมืองพัทยาจะได้ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่ออกกำลังกายบนพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างเป็นอาคาร A แต่ไม่ปรากฏว่า ในขณะนี้เมืองพัทยามีแผนงาน และงบประมาณที่จะจัดทำโครงการดังกล่าว การทุเลาการบังคับตามคำสั่งรื้อถอนอาคารในส่วนนี้ จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของเมืองพัทยาแต่อย่างใด
ศาลปกครองระยองจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร A และป้ายโครงเหล็ก และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งในส่วนนี้ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ส่วนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร C ซึ่งเป็นอาคารจัดเลี้ยงนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารดังกล่าวได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยมีระยะห่างจากแนวโขดหินริมทะเลเพียง 5.70 เมตร และอาคารทั้งหลังตั้งอยู่ในระยะ 20 เมตร จากแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำการก่อสร้างอาคาร กำหนดให้บริเวณพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 20 เมตร ห้ามก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารใด ๆ เว้นแต่อาคารที่เป็นองค์ประกอบของระบบสาธารณูปโภค อาคารของส่วนราชการ เพื่อรักษาความปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวก หรือเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และโครงสร้างเสาสัญญาณเตือนภัย
เมื่ออาคารของผู้ฟ้องคดี เป็นอาคารเพื่อใช้ในกิจการของผู้ฟ้องคดี จึงไม่เข้าข้อยกเว้นและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้ก่อสร้างได้ในระยะ 20 เมตร ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่า คำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร C และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองระยอง จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายกเมืองพัทยาที่ให้รื้อถอนอาคาร C และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร C ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับบ้านสุขาวดี เป็นของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการบริษัท สหฟาร์ม จำกัด มีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณริมหาดใน ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งมีความยาว 400 เมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภายในบ้านสุขาวดีเป็นที่ตั้งอาคารโดมพระ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ และประวัติพระอริยสงฆ์ ,อาคารเจ้าแม่กวนอิมความสูง 5 ชั้น ภายในประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม ,อาคารครัวของโลก ซึ่งมีห้องประชุมใหญ่ที่จุคนได้ถึง 2,500 คน ,อาคารแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นศูนย์อาหาร-เครื่องดื่ม และเป็นแหล่งรวมของสินค้าของฝาก ของทะเลจากชายทะเลตะวันออก และอาคารไอริสโซเฟีย ซึ่งเป็นอาคารแห่งสุขภาพ-ความสวยความงาม เป็นต้น