"...สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานอายุ 0-15 ปี ต่อกรณี “การเลี้ยงดูเด็กในยุคโควิด-19” พบว่า ปัจจุบันคนในครอบครัว ปู่ย่า ตายาย เป็นคนเลี้ยงดูเด็ก ร้อยละ 49.14 รองลงมาคือเลี้ยงเอง ร้อยละ 45.45 เมื่อเปรียบเทียบยุคสมัยก่อนกับยุคสมัยนี้การเลี้ยงดูบุตรหลานยากขึ้น ร้อยละ 77.64..."
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานอายุ 0-15 ปี ต่อกรณี “การเลี้ยงดูเด็กในยุคโควิด-19” จำนวนทั้งสิ้น 1,154 คน ระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ปัจจุบันคนในครอบครัว ปู่ย่า ตายาย เป็นคนเลี้ยงดูเด็ก ร้อยละ 49.14 รองลงมาคือเลี้ยงเอง ร้อยละ 45.45 เมื่อเปรียบเทียบยุคสมัยก่อนกับยุคสมัยนี้การเลี้ยงดูบุตรหลานยากขึ้น ร้อยละ 77.64 วิธีดูแลบุตรหลานในยุคโควิด-19 คือ ใช้เวลาร่วมกัน หากิจกรรมทำร่วมกัน ร้อยละ 83.75 รองลงมาคือ เน้นดูแลสุขอนามัย ร้อยละ 69.23 สิ่งที่หนักใจคือกังวลการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 74.57 รองลงมาคือเรื่องการเรียน ร้อยละ 62.90 ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลานเฉลี่ยประมาณ 7,974.60 บาทต่อเดือน โดยมองว่าบุตรหลานค่อนข้างสามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ ร้อยละ 56.10 สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลเด็ก คือ ช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า ร้อยละ 80.87
ผู้ปกครองมองว่า “เด็ก” ในปัจจุบันเลี้ยงดูยากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเฉลี่ยเกือบแปดพันบาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้ของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งปีแรก (2564) เฉลี่ยประมาณ 28,454 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจึงคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ ดังนั้นสิ่งที่จะส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กให้สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพก็คือนโยบายของรัฐที่เน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการศึกษาเด็กทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 บนพื้นฐานการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของเด็กเป็นสำคัญ
การเลี้ยงดูให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ เป็นความฝันสูงสุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กต้องเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่บางส่วนที่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ ก็จะมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกมากขึ้น แต่ก็มีพ่อแม่บางส่วนที่ให้เด็กต้องอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลอื่นแทน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กสูญเสียโอกาสในการสร้างสัมพันธภาพ ที่ดีกับพ่อและแม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีพ่อแม่ที่ต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งบางครั้งสถานที่ทำงานก็ไม่เหมาะสม และพ่อแม่เองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ที่หนักสุดก็คือต้องปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กในช่วงยุคโควิด-19 นี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบใด พ่อแม่และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนและออกแบบเพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย