"...สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.11 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม..."
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศเป็นอย่างไร ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.11 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.85 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 9.62 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 8.94 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แย่ลงมาก และร้อยละ 3.48 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก
สำหรับความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.88 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 29.09 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 17.04 ระบุว่า ไม่พอใจเลย ร้อยละ 8.64 ระบุว่า พอใจมาก และร้อยละ 2.35 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ว่าจะรุนแรงขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.11 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ มาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ภายในประเทศยังคงสูง และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 รองลงมา ร้อยละ 32.50 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ร้อยละ 15.23 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี และได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็มแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อโรคโควิด 19 ให้ได้ ร้อยละ 8.86 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ รัฐบาลมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็มแล้ว และร้อยละ 0.30 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญของประชาชนระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ (เช่น ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.94 ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก รองลงมา ร้อยละ 27.58 ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และร้อยละ 13.48 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งนี้กับเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และอะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.71 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.99 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.41 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.56 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.71 เป็นเพศชาย ร้อยละ 51.21 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่าง ร้อยละ 6.21 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 14.02 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.36 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 34.85 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.56 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.84 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.18 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.68 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.30 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.89 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.70 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.11 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่และร้อยละ 0.30 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 30.76 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.24 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.59 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.03 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.00 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.38 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.26 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.64 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.65ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.82 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.07 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.30 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.73 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.53 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่าง ร้อยละ 20.00 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.14 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.92 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.09 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.55 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.44 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.86 ไม่ระบุรายได้