แพร่ประกาศห้ามชุมนุม-มั่วสุม ฉบับ 14 คลายล็อกพื้นที่เฝ้าระวัง-นำร่องด้านการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมากได้ตามความเหมาะสม ส่วน กทม.และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่อื่น ยังห้ามชุมนุม หรือ จัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนโทษคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด (ฉบับที่ 14) โดยมีสาระสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1.ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564
2.ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบันที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564
ทั้งนี้ในเรื่องมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับแต่ละพื้นที่สถานการณ์ ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37)
4.การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (เว้น กทม.และปริมณฑล) ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37)
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37) กำหนดให้พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยให้ปฏิบัติตามาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง ตรวจสอบ ยุติการชุมนุม โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/264/T_0064.PDF
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage