‘ธปท.-แบงก์ชาติมาเลย์’ ประกาศขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุล ‘ริงกิต-บาท’ ให้ครอบคลุม 'คนไทย'ที่พำนักในมาเลเซีย-คนมาเลเซียที่พำนักในไทย พร้อมผ่อนคลายเกณฑ์การเรียกเอกสารให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เริ่ม 1 ธ.ค.นี้
.............................
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ประกาศการขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท (ringgit-baht settlement framework) ให้ครอบคลุมชาวไทยที่พำนักในมาเลเซีย และชาวมาเลเซียที่พำนักในไทย รวมถึงมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เช่น เกณฑ์การเรียกเอกสารให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564
“การขยายความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศมาเลเซียและไทย” ธปท.ระบุ
นายอับดุล ราชีด กาฟโฟร์ รองผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวว่า การขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินครั้งนี้ จะช่วยให้บุคคลธรรดาและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศสามารถใช้เงินริงกิต หรือเงินบาทในการทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในระยะต่อไป
ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาทครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจในมาเลเซียและไทย ช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศที่เริ่มให้บริการไปในช่วงก่อนหน้า
“ธปท.เชื่อว่าการขยายขอบเขตของกลไกดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นและการรวมกลุ่มทางการเงินภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป” นายเมธีกล่าว
สำหรับกลไกความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซียนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2559 ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย และ ธปท. ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2558 และได้ขยายความร่วมมือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2561
ทั้งนี้ ธนาคารกลางมาเลเซีย และ ธปท. ได้ร่วมกันคัดเลือกธนาคารพาณิชย์จากทั้งสองประเทศ เพื่อดำเนินการภายใต้กลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาเข้าร่วม ได้แก่ เงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ประสบการณ์การให้บริการด้านการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เข้มแข็งกับธนาคารพาณิชย์ในอีกประเทศหนึ่ง ดังนี้
ธนาคารพาณิชย์ในไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) , ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพฯ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
ส่วนธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซีย ได้แก่ Bangkok Bank Berhad ,CIMB Bank Berhad ,Malayan Banking Berhad ,MUFG Bank (Malaysia) Berhad ,Public Bank Berhad ,RHB Bank Berhad ,United Overseas Bank (Malaysia) Berhad ,HSBC Bank Malaysia Berhad และ Standard Chartered Bank Malaysia Berhad
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage