กทม.เตรียมปรับแผนจัดการขยะ ยืดเวลาฝังกลบให้เหลือ 30% ออกไป 3 ปี หลัง กกพ.ยังไม่พิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้า เป็นเหตุให้โครงการกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขมล่าช้า ส่งผลงบจัดการขยะบานปลาย ด้านเอกชนเผชิญปัญหาต้นทุนโครงการพุ่ง ขอ กพช.เร่งประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้า ทั้งนี้ความไม่ชัดเจนนโยบายรัฐ ยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการขยะของ กทม.ว่า ในปี 2565 มีแนวทางลดการฝังกลบลงจาก 80% เหลือ 30% เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ฝังกลบหายาก และต้องการลดผลกระทบกับชุมชน รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยพยายามยึดหลักกำจัด ณ แหล่งกำเนิด
โดย กทม.มีแผนกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีข้อดีหลายประการ ช่วยกำจัดขยะให้หมดไปอย่างรวดเร็ว และมีไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้เข้าระบบของประเทศ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการนำร่องที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และพบว่ามีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดขยะได้ประมาณ 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์
ต่อมา กทม.ได้ขยายโครงการนำขยะผลิตไฟฟ้า ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และส่วนที่เหลือของศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เป็นเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่เกิน 1,000 ตัน/วัน กำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกกะวัตต์/แห่ง ซึ่งตามแผนกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 นอกจากนี้ยังมีแผนทำโครงการลักษณะเดียวกัน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยสายไหม ขนาด 1,000 ตัน/วันเป็นโครงการต่อไป
การกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเป็นโครงการที่สามารถจัดการขยะได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ เหมาะกับขยะชุมชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นขยะเปียกมีความชื้นสูงถึง 60% และต้นทุนไม่สูงนัก ส่วนเทคโนโลยีเตาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า กทม.ได้มีการพิจารณามาอย่างรอบคอบ ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเมืองเทียบกับการนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง (RDF), การรีไซเคิล หรือการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งจะมีกองขยะส่วนที่เหลือต้องบริหารจัดการอีกทอดหนึ่ง อีกประการหนึ่งขยะชุมชนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด เช่น หน้ากากอนามัย หรือแพคเกจจิ้งอาหารต่างๆ ก็สามารถนำมากำจัดที่โครงการฯ อ่อนนุช และหนองแขมได้ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ทั้ง 2 โครงการจะเกิดประโยชน์อย่างมาก แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้ามารองรับตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 31 พ.ค. 2560 และ กกพ.ยังมีแนวทางจะทบทวนโครงการฯใหม่ด้วย โดยเฉพาะอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะของ 2 โครงการ ที่กำหนดไว้อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วยบวกเงินเฟ้อ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคเอกชนที่ผ่านการประมูลโครงการ และลงนามสัญญากับ กทม.เมื่อปี 2562 ไม่สามารถก่อสร้างได้จนถึงปัจจุบัน และหลายเรื่องที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ก็กำลังจะหมดอายุลงในเดือน ต.ค.นี้ เช่น รายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว
ทั้งนี้ความเสียหายจากโครงการที่ล่าช้ามาหลายปี ทำให้ กทม.ต้องปรับแผนการจัดการขยะใหม่ทั้งหมด โดยต้องเลื่อนแนวทางลดสัดส่วนการฝังกลบให้เหลือ 30% ออกไปกว่า 3 ปี จนกว่าโครงการฯที่อ่อนนุช และหนองแขมจะเกิดขึ้นได้ และต้องจัดงบประมาณใหม่ในการจ้างเอกชนขนส่ง และฝังกลบ ซึ่งเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันแผนการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าที่สายไหม ซึ่งเตรียมของบประมาณก็ถูกชะลอออกไปเช่นเดียวกัน
ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจนสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง กทม.ไม่ได้เพิกเฉย มีหนังสือสอบถามไปยัง กกพ. ขณะเดียวกันหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้ประสานงานไปที่ กกพ.รวมหลายครั้ง จนล่าสุดได้มีการจัดประชุมหารือกับ กกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา โดยกทม.ยืนยันถึงความสำคัญที่โครงการฯอ่อนนุช และหนองแขม ต้องเดินหน้าต่อไปตามแผนเดิม เพราะโครงการฯผ่านกระบวนการต่างๆมาหมดแล้ว
ส่วนภาคเอกชนผู้ดำเนินโครงการ ทราบว่ากำลังเดินหน้าเรียกร้องความเสียหาย เนื่องจากความล่าช้าและการที่ กกพ.จะทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ กระทบในหลายเรื่องเป็นลูกโซ่กับแผนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะแผนด้านการเงินที่ทำกับสถาบันการเงิน เพราะอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย บวกอัตราเงินเฟ้อ ประมาณ 3% ต่อปีนั้น ภาคเอกชนใช้เป็นฐานในการประกวดราคา และยังผูกโยงกับค่ากำจัดขยะมูลฝอย (Tipping fee) ด้วย ซึ่งการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าจะช่วยให้ค่าจัดการขยะไม่เพิ่มขึ้น หรือคงที่ไปตลอด 20 ปีของโครงการฯที่อัตรา 789 บาทต่อตันสำหรับโครงการฯอ่อนนุช และ775 บาทต่อตันที่โครงการฯหนองแขม เทียบกับการที่ไม่มีโครงการนำขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้า ค่าขนส่งและฝังกลบไปอีก 20 ปี จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 535 บาทต่อตันไปอยู่ที่ 1,295 บาทต่อตันที่หนองแขมและเป็น 1,338 บาทต่อตันที่อ่อนนุช
ดังนั้นจึงเห็นว่า กกพ.ควรเร่งออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้ 2 โครงการเดินหน้าได้ หากจะมีการทบทวนแผนหรือเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม ควรดำเนินการกับโครงการอื่นๆที่เกิดขึ้นภายหลัง เพื่อความยุติธรรมกับทุกๆฝ่าย ทั้งภาคเอกชนที่ผ่านกระบวนการประกวดราคามาแล้ว และหลีกเลี่ยงการที่หน่วยงานรัฐจะถูกฟ้องร้องในภายหลังด้วย
นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯและบริษัทในเครือซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าอ่อนนุชและหนองแขมขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ได้ดำเนินการตามระเบียบที่ภาครัฐกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปี 2560 และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในปี 2561 ที่มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ ฟีด-อิน-ทารีฟ (FIT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ปั่นไฟไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย
บริษัทได้นำอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย บวกอัตราเงินเฟ้อ ประมาณ 3% ต่อปี มาใช้เป็นฐานในการประกวดราคาและได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้ดำเนินโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 234.7 เมกะวัตต์
"ความล่าช้าของการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของ กพช.ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการของกลุ่มบริษัทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินโครงการซึ่งปัจจุบันราคานำเข้าเหล็กสำหรับก่อสร้างโครงการได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงขอความเป็นธรรมและขอให้กระทรวงพลังงาน และ กพช.ช่วยเหลือเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการด้วยการเร่งประกาศอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานหลักคือกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าตามประกาศของกพช.ปี 2560 และมติ กบง.ปี 2561 หากจะมีการปรับอัตราการรับซื้อใหม่ควรใช้กับโครงการใหม่ไม่ใช่โครงการเดิมที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว” นายเหอ หนิง กล่าว
นายเหอ หนิง กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าในโครงการที่ผ่านความเห็นขอบจากหน่วยงานหลัก แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งขัดกับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ไทย และอาจส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอนาคต
ทั้งนี้บริษัทคาดหวังว่า กกพ.จะพิจารณาหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าในเร็ววัน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการตามแผนที่วางไว้ได้ หากทั้งสองโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 จะสามารถช่วยกำจัดขยะให้กรุงเทพมหานครได้รวมถึง 2,500 ตัน/วัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage