‘สภากาชาดไทย’ ชวนบริจาคสเต็มเซลล์ ช่วยผู้ป่วยโรคเลือดพ้นวิกฤต หลังโควิดทำยอดบริจาคลด ย้ำศูนย์บริการได้รับมาตรฐาน ชี้ปลอดภัย ไม่น่ากลัว มีนโยบายรถรับส่งผู้บริจาค-ตรวจหาเชื้อก่อนให้บริจาคถึง 3 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดงานเสวนาออนไลน์ถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊ก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เรื่องการบริจาคสเต็มเซลล์ช่วยให้โลกพ้นวิกฤต กับประสบการณ์จากปาฏิหารย์คู่แท้สเต็มเซลล์ กับการรักษาที่มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วย เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก โดยนางศิริลักษณ์ เพียรเจริญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในการบริจาคสเต็มเซลล์จะต้องมีการตรวจการติดเชื้อก่อนเสมอ ทางสภากาชาดไทยจึงผูกกับการบริจาคโลหิตด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ในช่วงวิกฤตโควิดขณะนี้ การบริจาคโลหิตลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้บริจาคสเต็มเซลล์ลดลงไปด้วย
“ในการเชิญผู้บริจาคสเต็มเซลล์มาตรวจยืนยัน ในช่วงนี้หลายๆท่านกลัวกับการเข้ามาภายในโรงพยาบาล หรือกลัวกับการเดินทาง ทางสภากาชาดไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาตรงนี้ ยืนยันว่าศูนย์บริการของเราได้รับมาตรฐานในการดูแลสถานที่และบุคคลากรทุกประการ นอกจากนั้นยังจัดระบบรถรับส่งผู้บริจาค และมีกระบวนการตรวจหาเชื้อโควิดถึง 3 ครั้ง ก่อนให้เข้าบริจาค จึงอยากให้ประชาชนคลายความกังวล และเชิญชวนมาบริจาคกัน” นางศิริลักษณ์ กล่าว
สำหรับวิธีการบริจาคนั้น สามารถเลือกได้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1. การบริจาคทางกระแสโลหิต และ 2. การบริจาคทางไขกระดูก ยืนยันว่าวิธีข้างต้นนั้นปลอดภัย และไม่เจ็บ ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิดและหายป่วยแล้ว สามารถมาบริจาคได้
ดังนั้นคุณสมบัติผู้บริจาคสเต็มเซลล์ ประกอบด้วย ต้องเป็นผู้บริจาคโลหิต มีอายุ 18-50 ปี น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริจาค เช่น โรคติดเชื้อ โรค เป็นต้น ไม่มีโรคติดต่อ และไม่มีพฤติดรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครสามารถลงทะเบียนพร้อมกับบริจาคโลหิตได้ในพื้นที่ 5 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ชลบุรี, ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.นครราชสีมา, ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ขอนแก่น และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.เชียงใหม่
ด้าน พ.อ.รศ.นพ.รชต ลำกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดนั้น มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โลหิตจางธาลัสซีเมีย และโรคโลหิตจางชนิดไขกระดูกได้
"การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทั้งผู้บริจาคและผู้รับจะต้องมีเนื้อเยื่อ Human Leukocyte Antigen หรือเรียกย่อว่า HLA ที่เหมือนกัน ซึ่งโอกาสที่จะเจอผู้ที่มีเหมือนกันจะเป็นบุคคลภายในครอบครัวประมาณ 25-30% ส่วนบุคคลอื่นจะอยู่ที่อัตรา 1 ต่อ 10,000 คน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนบริจาคสเต็มเซลล์แล้ว 300,000 ราย อย่างไรก็ตามมีผู้บริจาคสเต็มเซลล์จำนวนมาก จะช่วยลดการรอของผู้ป่วยที่ต้องการเต็มเซลล์ ทำให้เขามีชีวิตต่อไปได้" พ.อ.รศ.นพ.รชต กล่าว
ขณะที่นางมนทิรา อร่ามกิจโพธา อดีตผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน และโรคไขกระดูกบกพร่องที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ กล่าวด้วยว่า ตนเองเป็นบุคคลหนึ่งที่ป่วยและต้องได้รับการรักษาด้วยเสต็มเซลล์ ซึ่งตอนนั้นคุณหมอบอกว่า หากไม่ได้รับสเต็มเซลล์จะมีชีวิตได้อยู่เพียง 3 เดือนเท่านั้น และตนเองโชคดีที่ได้รับสเต็มเซลล์จากพี่สาว เพื่อนำมาปลูกถ่ายรักษาอาการป่วย ซึ่งตนเองรู้สึกขอบคุณทั้งบุคลากรการแพทย์ พี่สาวและทุกคนที่มาช่วยดูแลตรงนี้ด้วย ถ้าตนเองไม่มีพี่สาวในครั้งนั้น วันนี้ก็คงไม่มีเราที่สามารถใช้ชีวิตได้ในทุกวันนี้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจมาร่วมกันบริจาคสเต็มเซลล์ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/