‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองรัฐจัดเก็บภาษี ‘e-Service’ ส่งผลให้ ‘แพลตฟอร์ม’ ต่างประเทศ ผลักภาระให้ผู้บริโภคไทย พร้อมคาดมูลค่าการใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า
.........................
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานเรื่อง ‘ภาษี e-Service ผลต่อผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ’ โดยประเมินว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้าหรือในปี 2567 การใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มจากต่างประเทศของผู้บริโภคในไทยอาจจะมีมูลค่า 1 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มูลค่าการใช้บริการอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้เหล่านี้ผู้ให้บริการต่างชาติจะต้องประเมินเพื่อนำส่งภาษีให้กับทางการไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า แม้ว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีเจตนาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการของไทยและผู้ประกอบการต่างชาติน แต่น่าจะกระทบต่อผู้ใช้บริการมากกว่า เนื่องจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับ Global Company และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้จะครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูง จึงทำให้มีอำนาจต่อรองสูง
“ผู้ให้บริการบางรายยังเผชิญกับความท้าทายในการสร้างผลกำไร อีกทั้งธุรกิจการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่สูง ทำให้ผู้ให้บริการต้องลงทุนและพัฒนารายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ การแบกรับต้นทุนจึงเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มอาจจะมีการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้ใช้บริการ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นการส่งผ่านต้นทุนภาษีมาให้ผู้ใช้บริการจะไม่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เพราะการจัดเก็บภาษี e-Service เป็นการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมายังผู้เล่นในระบบที่เดิมไม่อยู่ในกลไกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากที่มีผู้เล่นรายอื่นในธุรกิจที่อยู่ในระบบอยู่ก่อนแล้ว
ขณะเดียวกัน ทิศทางและสภาวะแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศแต่ละราย จำเป็นต้องประเมินทุกปัจจัยเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น บทบาทหรืออำนาจต่อรองของตนในตลาดเป็นอย่างไร อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ของตนมากน้อยแค่ไหน การแข่งขันและราคามีผลต่อแนวโน้มของฐานลูกค้าของตนเพียงใด ตลอดจนยุทธศาสตร์ของธุรกิจที่วางแผนไว้ในช่วงข้างหน้าเป็นอย่างไร เป็นต้น
“ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศจำเป็นต้องประเมินก่อนที่จะตัดสินใจ มิฉะนั้น อาจจะสูญเสียความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันไปให้กับผู้เล่นอื่นๆ ได้ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อในอนาคต การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจมีผลให้แนวโน้มการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนโฉมไปได้อีกมากจากปัจจุบัน” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบที่ผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภค อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการจัดเก็บภาษี e-Service ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น
1.กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มเพื่อเป็นช่องทางการขายสินค้าหรือบริการ และประชาสัมพันธ์สินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งปกติผู้ใช้บริการจะชำระค่าใช้จ่ายในรูปแบบค่าธรรมเนียม หรือค่าการตลาด แต่ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มอาจผลักภาระบางส่วนมายังผู้ใช้บริการผ่านค่าธรรมเนียมที่ปรับขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่มีมาร์จิ้นต่ำ และอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง การปรับราคาทำได้จำกัด น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
2.กลุ่มพัฒนาคอนเทนท์อาจจะได้รับผลกระทบในส่วนของรายได้ที่ลดลง สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นผู้พัฒนาคอนเทนท์อย่างวิดีโอ เพลงหรือหนัง และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่นำไปวางจำหน่าย หรือให้บริการฟรีบนแพลตฟอร์มจะได้รับรายได้ในส่วนของโฆษณา หรือยอดจำนวนผู้ชมตามที่แต่ละแพลตฟอร์มกำหนด ซึ่งก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคิดรายได้ตอบแทน หรืออาจจะมีการหักภาษีเกิดขึ้นในอนาคต
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage