มีผลบังคับใช้แล้ว! ระเบียบ ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีไม่ร้ายแรงให้ พนง.สอบสวน-ป.ป.ท.-ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการ หากมีความเห็นต้องรายงานกลับมาใน 30 วัน แต่ถ้าไม่เห็นด้วย-ส่อไม่เป็นธรรม มีสิทธิเรียกสำนวนคืนมาไต่สวนเองได้
.......................................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาดำเนินการและรายงานผลของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2564
โดยมีสาระสำคัญคือ ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61, 62, 63 และ 64 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายเรื่องกล่าวหาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง หรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับให้หน่วยงานของรัฐ อาทิ พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการแทน หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนได้ และมาตรา 65 กำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย รายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับทราบด้วย
ในส่วนของ พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน บัญญัติไว้ลักษณะเดียวกันคือ เมื่อได้รับเรื่องกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 61 และ 63 แล้ว ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายเกี่ยวข้องต่อไป โดยระหว่างสอบสวนหากพบว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) มีส่วนร่วมในการกระทำผิด หรือเรียกรับทรัพย์สิน หรือกรณีเป็นเรื่องกล่าวลักษณะความผิดร้ายแรงนั้น ให้รายงานข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานดังกล่าวแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเร็ว โดยยังไม่ต้องส่งสำนวนคืนแก่ ป.ป.ช.
ทั้งนี้เมื่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน สอบสวนหรือไต่สวนเสร็จแล้วไม่ว่าจะเห็นควรฟ้อง หรือไม่เห็นควรฟ้องก็ตาม ให้รายงานผลดำเนินการแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่มีความเห็น ทั้งนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วย หรือกรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสำนวนดังกล่าวกลับมาเพื่อดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนำผลการสอบสวนหรือไต่สวนดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้
- อ่านรายละเอียดจากราชกิจจานุเบกษา :http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/054/T_0030.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/