นายกรัฐมนตรี ประชุมแผนบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด 'อนุทิน' เผยใช้เตียงไอซียู 1,500 เตียงเต็มแล้ว จ่อขยายเพิ่มเป็น 5,000 เตียงต่อไป ยันมี 'ฟาวิพิราเวียร์' เพียงพอ เตรียมขออนุมัติ ครม.จ่ายเงินมัดจำซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส คาดล็อตแรกมาสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย.
------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ส.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการดูแล ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบแยกกับตัวที่บ้าน Home Isolation และ แยกกับตัวในชุมชน Community Isolation และการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 รอ.โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข , พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม , พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. , พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้มีการรายงานสถานะศูนย์แยกกักชุมน และศูนย์พักคอย (Community Isolation) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค.25564 พบว่ามีทั้งหมด 55 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 6,987 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 3,394 เตียง และรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติม 3,593 เตียง ดังนี้
1.สถานะศูนย์แยกกักตัวในชุมชนของ อว. มีทั้งหมด 6 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 1,068 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 279 เตียง และรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้ 789 เตียง
2.สถานะศูนย์แยกกักตัวในชุมชนของ สธ. มีทั้งหมด 30 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,144 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,227 เตียง และรองรับผู้ป่วยได้เพิ่ม 1,917 เตียง
3.สถานะศูนย์แยกกักตัวในชุมชนของ กทม. มีทั้งหมด 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 2,775 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 1,888 เตียง และรองรับผู้ป่วยได้เพิ่ม 887 เตียง
สถานะการณ์ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยด้วยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) พื้นที่ กทม.ของกรมการแพทย์ ข้อมูล ณ วันที่ 9 ส.ค.2564 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่เข้าระบบทั้งหมด 61,376 คน อยู่ระหว่างรักษา 45,987 คน และออกจากระบบการรักษาแล้ว 15,389 คน
ด้านกระทรวงมหาดไทย รายงานข้อมูลในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 12 ส.ค.2564 พบว่า การดูแลผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 57,688 คน และ สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) มีทั้งหมด 4,307 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 120,581 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลือง 868 เตียง และผู้ป่วยสีเขียว 37,584 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติม จำนวน 81,129 เตียง และสถานประกอบการต่างๆ ได้มีการจัดให้มีสถานที่แยกกักตัวในสถานประกอบการ (Factory Isolation) ทั้งหมด 1,683 แห่ง รองรับผู้ป่วย จำนวน 52,542 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 7,507 เตียง และรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติม 45,035 เตียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมดูแลผู้ป่วย ขณะที่ นายอนุทิน ยืนยันขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ แต่ในส่วนของเตียงไอซียู ยังมีความต้องการใช้เตียง 5,000 เตียง แต่มี 1,500 เตียงเต็มแล้ว ซึ่งกำลังเตรียมขยายเพิ่ม ส่วนการขนย้ายผู้ป่วยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม ประสานงานโดยใช้บริษัท ขนส่ง จำกัด เข้ามาเสริม ขณะที่กระทรวงคมนาคม ยืนยันดำเนินการอย่างเต็มที่ โดย 7 จังหวัดอีสานใต้ไม่มีปัญหา เบื้องต้นขนส่งโดยรถไฟและทางบกดีที่สุด ส่วนกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำว่ากองทัพ จะช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มกำลังในทุกด้าน พร้อมจัดรถรับส่งผู้ป่วย แยกผู้ป่วย มอบอุปกรณ์แพทย์ และอาหาร ให้แก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม
ขณะที่ปลัด กทม. รายงานขั้นตอนการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ การดูแลผู้ป่วย HI ซึ่งมีอุปกรณ์ วัดไข้ วัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร สถานการณ์ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยด้วยการแยกกักตัวที่บ้านพื้นที่ กทม. ของกรมการแพทย์ จำนวนผู้ป่วยสะสมที่เข้าระบบทั้งหมด 61,376 คน ส่วนการกักตัวในชุมชน มีศูนย์พักคอย 67 แห่ง เป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) หากเปิดได้ทุกส่วนจะมีเตียงถึง 10,000 เตียง
ด้านภาคประชาสังคม อย่าง น.ส.ไดอาน่า จงจินตนาการ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจเราต้องรอด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้รับแจ้งและช่วยเหลือผู้ป่วยไป 2 หมื่นกว่าราย ซึ่งจะมีโครงการ Back Home ส่งกลับรักษาที่ภูมิลำเนา ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ ได้ตั้งศูนย์พักคอย ที่เขตประเวศ และที่นายตันภาสกรให้การสนับสนุนเปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยระดับสีเขียว ระดับสีเหลือง ไปจนถึงผู้ป่วยวิกฤตินั้นก็จะดำเนินการต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ดีใจที่ กทม.และทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นอย่างดีพร้อมย้ำ การอธิบายเรื่องการขนย้ายผู้ป่วย การส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ให้ประชาชนเข้าใจและต้องปลอดภัย ทั้งนี้ทุกหน่วยงานทำให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ต้องปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ ศูนย์กลางขอรับความช่วยเหลือ การกำจัดขยะติดเชื้อ การบูรณาการทั้งกทม.และต่างจังหวัดในขั้นตอนต่างๆ การทำ bubble and seal ให้ถูกต้อง ซึ่งการทำงานต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการติดตามวัคซีนและยาใหม่ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ และเสนอมา จะต้องเตรียมวัคซีนเพิ่มสำหรับช่วงปลายปี ซึ่งได้เริ่มพูดคุยแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานด้วยว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ได้ดำเนินการตามแผนทั้งหมด ส่วนการจัดซื้อ 20 ล้านโดสที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปก่อนหน้านี้ จะดำเนินการขอความเห็นชอบจาก ครม.วันที่ 17 ส.ค.นี้ เพื่อให้อนุมัติการจ่ายเงินมัดจำต่อไป เช่นเดียวกับแผนการจัดซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดสยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าวัคซีนล็อตแรกจะมาถึงไทยช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ภายในปีหน้าน่าจะมีผลที่ชัดเจนและมีแนวโน้มที่ดี ในเรื่องชุดตรวจ ATK ที่รัฐบาลและเอกชนนำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนโดยกระทรวงพาณิชย์จะได้รับไปดูแล ส่วนกรณีมีเอกชนนำเข้ามาจำหน่ายเองต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ จึงจะแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมิตรที่ดีและสนับสนุน ช่วยเหลือไทย นอกจากนี้เรื่องปัญหาข่าวปลอมต้องแก้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง หากทุกอย่างทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ตามระเบียบ กฎหมายไม่มีอะไรต้องกลัว และให้กำลังใจทุกคน ทุกระดับ เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ส.ค.จะมีการประชุม ศบค.ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage