องค์กรต้านคอร์รัปชั่นไทยฯ ประกาศ 5 ทีมเข้าชิงดำรอบสุดท้าย ออกแบบ ‘ข้อมูลต้านโกง’ เพิ่มความโปร่งใสของรัฐบาล ACTkathon 2021 สร้างไอเดียให้รัฐเปิดเผย
...................................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่ข้อมูลการนำเสนอไอเดียพลิกเกมโกง ของผู้ร่วมแข่งขันงาน ACTkathon: Anti Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 เชิญคนรุ่นใหม่มาเสนอไอเดียต่อต้านคอร์ปรัปชันในธีม “ACTkathon 2021 : พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างไอเดียรัฐเปิดเผย” เปิดรับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเครื่องมือไฮเทคเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และพันธมิตร โดยได้คัดเลือกผู้เข้ารอบจำนวน 20 ทีม จากผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันกว่า 500 คน
สำหรับบรรยากาศการนำเสนอผลงานเป็นไปด้วยความเข้มข้นและตื่นเต้น ผู้เข้ารอบทั้ง 20 ทีมนำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ส่วนใหญ่เสนอให้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ข้อมูลโครงการภาครัฐกับประชาชน โดยมีระบบติดตามตรวจสอบ ที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ แต่ละทีมมีความคิดสร้างสรรค์ที่ผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Data Science ที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงยึดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการนำ Open Data ภาครัฐมาวิเคราะห์ เพื่อค้นหาความผิดปกติและระบบการร้องเรียนการตรวจสอบที่ผู้ใช้งานสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานตรวจสอบได้ หลังจากกรรมการฟังการนำเสนอผลงานและประชุมกันกว่า 6 ชั่วโมง ได้คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้่ายเหลือเพียง 5 ทีม ดังนี้
1.ทีม Panda ออกแบบแพลตฟอร์ม “ขิงบ้านเรา” ตรวจสอบการใช้งบประมาณของชุมชน ที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการรู้จักกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตัวเองว่ามีโครงการอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับองค์กรตรวจสอบโดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอยู ซึ่งระบบสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริการกับผู้รับจ้างหรือพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณว่ามีความส้มพันธ์กันอย่างไร หากพบว่ามีพื้นที่น่าสงสัยประชาชนสามารถมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
2.ทีม Blocklander รวบรวมข้อมูลแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ โดยโมเดล Building Detection ที่ช่วยระบายสีพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างโครงการจากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลแผนที่มีอยู่ จากนั้นจะนำข้อมูลแผนที่มาทำข้อมูลเปิด เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและให้นักพัฒนานำไปพัฒนาต่อ แพลตฟอร์มยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร้องเรียนและเปิดเผยข้ออมูลผิดปกติในพื้นที่ ข้อมูลรายละเอียดที่จะนำไปเรียงลำดับเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
3. ทีม น้องตู่ตื่นรู้นะจ๊ะ ออกแบบแพลตฟอร์ม PICA เรดาจับโกง ระบบตรวจสอบข้อมูลทุจริต โดยใช้ข้อมูลพื้นฐาน ตั้งแต่พิกัดจีพีเอส ข้อมูลจากจัดซื้อจัดจ้าง วงเงินงบประมาณ ระยะเวลาการส่งมอบ เงื่อนไขรับประกัน และบริษัทผู้รับเหมา มาใช้ตรวจสอบ ผู้ใช้งานสามารถส่งเรื่องราวร้องเรียนได้ โดยระบบจะคุ้มครองผู้ร้องเรียนด้วย blockchain เมื่อประชาชนสงสัยแค่ยกมือถือขึ้นมา ข้อมูลพื้นฐานของโครงการจากปรากฏขึ้นมา ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพเก็บไว้ ข้อสงสัยจะถูกบันทึกไว้ในระบบ จากนั้นจะทำการตรวจสอบ การตรวจสอบจะใช้เรดาที่ผู้ใช้งานกำหนดระยะทางได้เอง PICA จะทำให้คนที่รักความโปร่งใสให้มาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยจะดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลภาครัฐออกมาตรวจสอบ ร่วมกับประชาชนที่สนใจแล้วส่งข้อมูลกลับ
4. ทีม Joke Ranger ขบวนการปราบโกงประเทศไทย พัฒนาโซลูชั่นแก้ปัญหาช่องทางร้องเรียนในองค์กร โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม voice of CHANGE ที่ง่ายต่อในการเข้าถึง ปลอดภัยไม่ระบุตัวตน เพื่อให้คนในองค์กรสามารถแจ้งข้อมูลได้ โซลูชั่นหลักของแพลตฟอร์มประกอบรวบรวมข้อมูลแล้วประเมินว่าเรื่องใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ระบบสามารถทำการตรวจสอบและส่งเรื่องร้องเรียน โดยเปิดให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในองค์กรมีส่วนร่วมในการโหวด และส่งเรื่องร้องเรียนได้
และ 5 ทีมกรุบกริบ ออกแบบแพลตฟอร์ม Corruption Analysis กินยกแก๊ง ออกแบบเครื่องมือทางสถิติที่ซับซ้อนเพื่อวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เสนอเป็น Web Based Dashboard โดยจะวิเคราะห์นักการเมือง เครือญาติ และนักธุรกิจ เพื่อหาแนวโน้มการทุจริต นักการเมืองจะจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัด ระบบจะพิจารณาจากดัชนีวัดความยากจนเปรียบเทียบกับรายละเอียดโครงการ ส่วนการส่งงานให้เครือญาติระบบจะมองหาความสัมพันธ์ของเครือญาติโดยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คแอนนาไลซีสเพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ แล้วหารูปแบบการฮั้วประมูล ผลการวิเคราะห์จะนำไปตรวจสอบและเปิดโปงการทุจริต
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) กล่าว่า ดีใจที่ได้ร่วมรับฟังการนำเสนอข้อมูลของผู้เข้าแข่งขันทุกทึม แนวคิดทุกแนวคิดทุกไอเดียที่เกิดขึ้นจะเป็นแนวทางให้องค์กรต่อตานคอร์รัปชันฯได้ใช้ประโยชน์ในการต่อต้านการคอร์รัปชันต่อไป ขอขอบคุณผู้เข้าแข่งขันทุกคนและ หวังว่าจะมีโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกันต่อไป
สำหรับงาน ACTkathon: Anti Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 ในรอบถัดไปซึ่งเป็นรอบสุดท้าย คือวันที่ 21 สิงหาคม | Final Round Demo Day เพื่อหาผู้ชนะ 3 ทีม ตั้งแต่เวลา 12.00 - 16.30 น. โดยผู้ชมสามารถร่วม VOTE ให้กับทีมมีผลงานที่น่าสนใจมากที่สุด เพื่อชิงรางวัล POPULAR VOTE 1 รางวัล รับชมพร้อมกันผ่าน Facebook Page: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(https://www.facebook.com/act.anticorruptionThailand)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/