แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องทางการไทยยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลังเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย ของแอมเนสตี้ได้รับหมายเรียกจากการไปร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
........................................
สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและ พ.ร.บ.จราจรทางบก จากการไปร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือนการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และร่วมเสวนากับญาติและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 64 บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการรายงานและกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่น่าตกใจ และการกระทำของรัฐในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความกลัวของรัฐที่ไม่ยอมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน ในทางกลับกัน รัฐกลับมุ่งแสวงหาช่องทางทั้งในทางกฎหมายและวิธีการอื่นๆ เพื่อกีดกั้น จำกัดสิทธิและสร้างความหวาดกลัวแก่คนที่ออกมาเคลื่อนไหว ให้อยู่ในความเงียบและยุติการทำงานในที่สุด
หากแต่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการขับเคลื่อนของคนทั่วโลกที่เห็นถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมกันของคนในสังคม การกดขี่ของรัฐที่กระทำต่อกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางกลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทั้งประชาชนและรัฐต่างให้ความสำคัญ ในประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการ อีกทั้งยังปฏิบัติตรงกันข้ามจะกลายเป็นรัฐส่วนน้อยที่กำลังจะหายไปจากความชื่นชมของคนในสังคมและประชาคมโลก
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพียงเพราะการทำงานของพวกเขาในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน อีกทั้งเรายังเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย นักกิจกรรม รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย”
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ออกโดย สน. นางเลิ้ง ซึ่งออกหมายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ด้วยเหตุร่วมกันกระทำความผิดพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 จากการเข้าร่วมกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี และร่วมเสวนากับญาติและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 บริเวณข้างทำเนียบรัฐ ซึ่งจัดโดย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ โดยมีผู้ถูกหมายเรียกจากการทำกิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อย 5 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยยุติการใช้กฎหมายปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ แต่กลับต้องมาถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องให้รัฐเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถใช้สิทธิในการแสดงออกและพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรีและปลอดภัย
ตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ที่ยืนยันสิทธิของคนทุกคนที่จะคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหนทางสันติ ปฏิญญาฯ ดังกล่าวยังห้ามมิให้กระทำการโต้กลับ ข่มขู่และคุกคามด้วยรูปแบบอื่นๆ ต่อบุคคลใดก็ตามที่กระทำการโดยสันติเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะในระหว่างหรือนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพของพวกเขา
อีกทั้งประเทศไทยได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติซึ่งเรียกร้องให้ทุกชาติคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นประเทศไทยจึงมีหน้าที่ชัดเจนที่จะต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้อย่างเสรีและปลอดภัย