"...สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยในยุควิกฤติ โควิด-19” พบว่า ประชาชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ร้อยละ 49.35 โดยกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า อยากฉีดเข็มที่ 2-3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ร้อยละ 41.86 ไฟเซอร์ ร้อยละ 25.39..."
...............................
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยในยุควิกฤติ โควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,702 คน สำรวจระหว่างวันที่ 5-15 กรกฎาคม 2564 พบว่า ประชาชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ร้อยละ 49.35 โดยกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า อยากฉีดเข็มที่ 2-3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ร้อยละ 41.86 ไฟเซอร์ ร้อยละ 25.39 ส่วนกลุ่มที่ฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค อยากฉีดเข็มที่ 2-3 เป็น ไฟเซอร์ ร้อยละ 30.07 โมเดอร์นา ร้อยละ 26.09 ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ณ วันนี้วิกฤติมาก ร้อยละ 60.93 เพราะยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่ม มากขึ้น ร้อยละ 89.24 วิธีการที่จะทำให้ฝ่าวิกฤติไปได้ คือ รัฐบาลต้องจริงใจ ไม่แสวงหากำไรจากประชาชน ร้อยละ 78.47 และคิดว่าจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี ร้อยละ 36.74 โดยประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกัน ร้อยละ 36.15
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่าสถานการณ์โควิด-19 นั้นยังห่างไกลจุดจบ โลกอาจจะต้องเผชิญกับการกลายพันธุ์ของไวรัส ส่วนในประเทศไทยเองก็ได้มีการเรียกร้องให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ให้กับบุคลากรด่านหน้า และเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยเร็ว แต่ด้วยยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด โคแวกซ์ (COVAX) ก็ไม่ได้เข้าร่วม การเจรจาเพื่อต่อรองนำเข้าวัคซีนก็ยังไม่เห็นความชัดเจน จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นโดยยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยอยู่ใน “ยุควิกฤติโควิด-19” นั้นไม่เกินจริง
ในวันนี้สิ่งที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงคือ การเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศ ผู้ที่รับวัคซีนย่อมมีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังตัวอย่างประเทศจีนที่ทำประสบความสำเร็จมาแล้ว ขอให้ประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนลงทะเบียนและรับวัคซีนตามนัดหมาย ส่วนคนที่รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วต้องการจะรับวัคซีนต่างชนิดนั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลาและวัคซีน ที่ต้องการ อาจต้องจัดสรรให้กลุ่มเสี่ยงก่อน เมื่อดูถึงยอดตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันนี้พบว่าขึ้นถึงหลักหมื่น และบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ขาดกำลังหลักในการทำงาน เรียกได้ว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะวิกฤติแล้ว ส่วนยอด ผู้ติดเชื้อจะถึงหลักแสนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งทุกคนในชาติ ต้องร่วมแรงร่วมใจกันจึงจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ในอดีตเราเคยมีการสู้รบระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันการสู้รบครั้งนี้เรามีศัตรูเดียวกันคือโควิด-19 เราต้องช่วยกันจึงจะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน