กสม. ขอรัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วอนทุกฝ่ายสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิด 19
...................................
ตามที่ได้มีการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) นั้น
จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และมาตรการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่า หลายภาคส่วนมีความกังวลต่อมาตรการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินดังปรากฏในข้อ 11 ของข้อกำหนดที่อ้างถึงข้างต้น เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจหรือตีความไปได้ว่า การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายทางหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริงก็ไม่สามารถทำได้ และถือเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27
กสม. เห็นว่าในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดร้ายแรง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงผลกระทบที่เกี่ยวเนื่อง และเพื่อให้สามารถเตรียมการในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้น จึงไม่ควรมีการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และไม่ควรห้ามการเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลเห็นว่าข้อมูลที่มีการนำเสนอสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน รัฐบาลสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความพยายามและมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหา รวมถึงให้คำแนะนำหรือแนวทางในการปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อลดความหวาดกลัวและความตื่นตระหนก รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้
กสม. จึงเห็นว่ามาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ดังที่ปรากฏในข้อ 11 ของข้อกำหนดฉบับที่ 27 ในส่วนที่ห้ามการเสนอข่าวหรือข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว และจะเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และมาตรา 35 รวมถึงไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการในข้อ 11 ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย
ในขณะเดียวกัน กสม. ขอให้ประชาชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนร่วมกันใช้สื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จหรือสร้างความเกลียดชัง เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าฝ่าฟันปัญหาไปพร้อมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอันเป็นความปกติของสังคมประชาธิปไตย